จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 352
วันนี้ (23 สิงหาคม 2567) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะ โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. เกี่ยวกับคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องคดีแต่อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งไม่ฟ้องและหาข้อยุติไม่ได้ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงพิจารณาและดำเนินการฟ้องเองโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และศาลมีคำพิพากษา ข้อมูลนับตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเอง ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 พบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลและพิจารณาให้สำนักงาน ป.ป.ช. ฟ้องคดีเอง จำนวน 372 เรื่อง
- ศาลพิพากษาลงโทษ จำนวน 142 คดี
- ศาลพิพากษายกคำร้อง จำนวน 84 คดี
- อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล จำนวน 73 คดี
- อยู่ระหว่างการร่างสำนวน จำนวน 64 คดี
- จำหน่ายคดี จำนวน 9 คดี (*เนื่องจากจำเลยเสียชีวิต, กรรมการมีมติให้ยุติคดี, หลักฐานไม่เพียงพอ และจำเลยหลบหนี)
จากสถิติการดำเนินคดีในกรณีที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการฟ้องคดีเองนั้นแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ สำนักงาน ป.ป.ช. ในการต่อสู้กับการทุจริตและประพฤติมิชอบ การมุ่งมั่นในการนำคดีเข้าสู่ชั้นศาล เป็นภารกิจด้านการอำนวยความยุติธรรมอีกภารกิจหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการดำเนินคดีให้ถึงที่สุดยกตัวอย่างคดีที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเองและขอให้มีการริบทรัพย์สินโดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สิน เช่น คดีที่อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กับพวก กรณีจัดซื้อรถยนต์บรรทุกน้ำดับเพลิงอเนกประสงค์ งบประมาณ 5,500,000 บาท ศาลพิพากษาลงโทษความผิดตาม มาตรา 12 พ.ร.บ. ฮั้วประมูล, คดีที่ นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสีคิ้ว กับพวก รังวัดสอบเขตที่ดินและออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา รุกล้ำแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตปฏิรูป, คดีที่พลตำรวจโท ธ. กับพวกทุจริตในการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (คำขอท้ายฟ้องเรียกค่าเสียหาย 92 ล้านบาท) และคดีที่นาย ว. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางจาก อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี กับพวก สั่งจ่ายเช็คแล้วเบียดบังเงินไปเป็นของตนและเข้าไปมีส่วนได้เสียในการดำเนินการจ้างก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางจาก (คำขอท้ายฟ้องเรียกค่าเสียหาย 13,156,837.58 บาท) เป็นต้น อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวบางคดียังไม่ถึงที่สุดและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวนพร้อมเอกสาร พยานหลักฐานและความเห็นให้อัยการสูงสุดภายใน 30 วัน เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป และตามมาตรา 77 ระบุว่า กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์ให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายละเท่ากัน ไม่เกินฝ่ายละ 5 คน เพื่อดำเนินการให้สำนวนการไต่สวนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ในกรณีที่คณะกรรมการร่วมดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควร โดยจะยื่นฟ้องคดีเองก็ได้ ซึ่งจะเห็นว่ากฎหมายได้เปิดช่องให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างหน่วยงาน โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ยืนยันว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งมั่นในการทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมต่อไป
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน