Contrast
Font
e15c91b19b4a603daf4394b60986542b.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต!! กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม (กม. ป.ป.ช. มาตรา 126 และมาตรา 127) พร้อมบทลงโทษ!

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 8428

10/10/2565

ตอนที่ 1 ที่มาของ กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 126 และมาตรา 127

 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้มีบทบัญญัติเพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมไว้ในมาตรา 126 และมาตรา 127 ซึ่งมีที่มาจากการที่เจ้าพนักงานของรัฐได้รับมอบอำนาจจากรัฐให้มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต การให้สัมปทาน และลงนามในสัญญาต่างๆ รวมถึงอำนาจในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี จึงบัญญัติกฎหมายในการห้ามเจ้าพนักงานของรัฐบางตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดรวมถึงคู่สมรสในการดำเนินกิจการบางอย่าง เว้นแต่คู่สมรสดำเนินการดังกล่าวอยู่ก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะเข้าดำรงตำแหน่ง เพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ ขณะที่ดำรงตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่งภายในระยะเวลา 2 ปี
---------------------------

ตอนที่ 2 ลักษณะกิจการที่ต้องห้ามตาม ม. 126 เพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มีเรื่องใดบ้าง

1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
2) เป็นหุ้นส่วนหรือเป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น โดยต้องดำเนินการไม่ให้มีลักษณะดังกล่าวภายใน 30 วันนับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง
3) รับสัมปทานหรือคงไว้ซึ่งสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนจากรัฐ หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ดำเนินกิจการในลักษณะดังกล่าว เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น โดยต้องดำเนินการไม่ให้มีลักษณะดังกล่าวภายใน 30 วันนับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง
4) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างในธุรกิจ ของเอกชน ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น

-----------------------------

ตอนที่ 3 กม. ป.ป.ช. มาตรา 126 บังคับใช้กับคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐอย่างไร

มาตรา 126 ใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าหนักงานของรัฐด้วย เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสนั้นดำเนินการอยู่ก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะเข้าดำรงตำแหน่ง โดยนอกจากคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ยังรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้         

(1) ได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันตามประเพณี โดยบุคคลในครอบครัวหรือภายนอกรับทราบ
(2) เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากันหรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว
(3) ได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังปรากฎพฤติการณ์ซี่งเป็นที่รับรู้ของสังคมว่ายังมีสถานะเป็นสามีหรือภริยากัน

-----------------------------

ตอนที่ 4 กม. ป.ป.ช. มาตรา 127 ห้ามเจ้าพนักงานของรัฐดำเนินกิจการที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง

     มาตรา 127 ห้ามมิให้กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะ เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตั

วแทน พนักงาน หรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ
     ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชนทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพักงานของรัฐผู้นั้น

ทั้งนี้ ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง

-------------------------

ตอนที่ 5 บทลงโทษ! หรือผลของการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 126 และมาตรา 127

การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 126 และมาตรา 127 ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมและกำหนดบทลงโทษ ดังนี้

1. กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำการฝ่าฝืนมาตรา 126 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. กรณีคู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินกิจการเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 126 ถ้าพิสูจน์ได้ว่า เจ้าพนักงานของรัฐนั้นรู้เห็นยินยอมด้วย  เจ้าพนักงานของรัฐนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. กรณีเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 127 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Related