จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 14
📍 เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼
📝 รู้ไว้...ไม่พลาด! เมื่อได้รับหนังสือเรียกชี้แจงจาก ป.ป.ช.
หากคุณได้รับหนังสือหรือคำสั่งให้ไปชี้แจงหรือให้ถ้อยคำในการไต่สวน อย่าเพิ่งตกใจ! เพราะทุกขั้นตอนของ ป.ป.ช. ดำเนินการภายใต้หลักการที่ยึดถือความเป็นธรรมและข้อเท็จจริงอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าพยานหลักฐานจะเป็นคุณหรือโทษ ผู้มีหน้าที่สอบสวนต้องรับไว้พิจารณาทั้งสิ้น
เรื่องราวเกี่ยวกับการเตรียมตัวชี้แจงหรือให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นอย่างไรไปติดตามเรื่องราวนี้กันได้เลยครับ...
"การเตรียมตัวเมื่อได้รับหนังสือหรือคำสั่งให้ไปชี้แจงหรือให้ถ้อยคำ"
ในการดำเนินการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่ส่วน ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้ถูกกล่าวหาพยานหลักฐานใดที่ผู้ถูกกล่าวหานำส่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หัวหน้า
พนักงานไต่ส่วนหรือพนักงานไต่สวนมีหน้าที่รับไว้เพื่อประกอบการพิจารณาและจะปฏิเสธไม่รับ ด้วยเหตุล่วงเลยเวลาหรือผิดขั้นตอนมิได้"
สำหรับกรณีการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน นั้น ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมีสิทธิร้องขอให้ผู้ตรวจสอบทรัพย์สินรวบรวมพยานหลักฐาน หรือนำพยานหลักฐานไปส่งมอบเพื่อประกอบการชี้แจงด้วยก็ได้
ดังนั้น เมื่อได้รับหนังสือหรือคำสั่งให้มาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะชี้แจงหรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงหรือนำส่งพยานหลักฐานทั้งปวงที่เห็นว่าเป็นคุณกับตนได้ โดยในการเข้าชี้แจงหรือให้ถ้อยคำดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเตรียมความพร้อม ดังนี้
"การเตรียมตัวก่อนไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช."
ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลใดที่จะเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องเตรียมความพร้อมในการนำเสนอข้อมูลหรือข้อเท็จจริง โดยต้องดำเนินการดังนี้
(1) ตรวจสอบวัน เดือน ปี รวมถึงเวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ในหนังสือเชิญ
(2) ทบทวนความจำเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามประเด็นที่ระบุไว้ในหนังสือหรือคำสั่งว่าตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวอย่างไร เมื่อถูกพนักงานเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซักถามจะตอบคำถามในประเด็นดังกล่าวโดยลำดับอย่างไร
(3) ในวันนัด หากมีพยานหลักฐานหรือข้อมูลใดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นตันตัวให้จัดเตรียมเพื่อนำมามอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเรียบเรียงพยานหลักฐานตามลำดับ พร้อมทั้งรับรองสำเนาเอกสารหลักฐานหรือถ่ายภาพพยานวัตถุที่จะส่ง
มอบไว้เป็นหลักฐานด้วย
(4) เตรียมบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวข้าราชการ/พนักงาน/ลูกจ้างหนังสือเดินทาง หรือหนังสือที่ราชการออกให้แทน หรือหนังสือรับรองทะเบียนนิติบุคคล เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันตัวตน
(5) แต่งกายด้วยชุดสุภาพเรียบร้อย
--------------------------------------------------
📍 เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼
เมื่อได้รับหนังสือเชิญจาก ป.ป.ช. แล้วต้องทำอย่างไร?
การไปรับทราบข้อกล่าวหาไม่ใช่เรื่องเล็ก! รู้ไว้ก่อน เตรียมตัวให้พร้อม เข้าใจสิทธิของตนเองและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามขั้นตอนเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างมั่นใจ
"5 ข้อสำคัญในการรับทราบข้อกล่าวหา"
เมื่อได้รับหนังสือเชิญจากสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปรับทราบข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม และผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิเช่นเดียวกับการไปชี้แจงหรือให้ถ้อยคำ โดยจะต้องพิจารณาประเด็นตามหนังสือเชิญให้มารับทราบข้อกล่าวหา ดังนี้
(1) การแจ้งข้อกล่าวหา มีเจตนารมณ์ให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหารับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาได้โดยถูกต้อง ซึ่งก่อนที่จะรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาได้ ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเข้าใจข้อกล่าวหาที่ได้รับการแจ้งให้ทราบเสียก่อน เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตรงกันระหว่างรัฐกับผู้ถูกกล่าวหา
ดังนั้น ในวันนัดให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา และอ่านบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาโดยละเอียด
(2) ให้อ่านบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาโดยละเอียด หากเห็นว่ายังมีประเด็นที่ไม่เข้าใจ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด วันเวลาและสถานที่ในการกระทำความผิด ฐานความผิด ให้สอบถามพนักงานเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. และไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหาพิจารณารายละเอียดของบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาให้ครบถ้วน
(3) ในคดีอาญา คดีร่ำรวยผิดปกติ คดีมาตรฐานจริยธรรม คดีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และคดีฝ่าฝืนมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือคณะไต่สวนเบื้องต้น จะกำหนดระยะเวลาให้ขี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาตามสมควร
(4) สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติของผู้ถูกกล่าวหาเพื่อบันทึกข้อมูล ดังนี้
ก. ประวัติผู้ถูกกล่าวหา เช่น ชื่อ ชื่อสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขที่หนังสือเดินทาง ข้อมูลส่วนตัว เช่น เพศ วันเกิด สัญชาติ ตำหนิรูปพรรณ เป็นต้น
ข. ประวัติเรื่องร้องเรียน ประวัติอาชญากร ประวัติหมายจับ ประวัติถูกคุมขัง(ถ้ามี)
ค. ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ง. เลขคดีหมายเลขดำ/เลขคดีหมายเลขแดงชั้นไต่สวน และฐานความผิด
จ. วัน เดือน ปีที่เกิดเหตุ
ฉ. วัน เดือน ปีที่แจ้งข้อกล่าวหา
ช. ภาพถ่าย
ซ. ภาพลายนิ้วมือ วัน เดือน ปีที่พิมพ์ลายนิ้วมือ ส่วนราชการที่พิมพ์ลายนิ้วมือ
ด. ผลคดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด
(5) ห้ามมิให้พกพาอาวุธ ไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมา หรือนำยาเสพติดหรือสิ่งของผิดกฎหมายเข้าไปยังสถานที่นัดหมาย ระะหว่างการรับทราบข้อกล่าวหา ห้ามมิให้บันทึกเสียง ภาพ วิดีโอ หรือดำเนินการอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาขอให้เรียกบุคคลใดหรือเรียกเอกสารใด ให้ร้องขอภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา
สำหรับคดีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือยื่นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กำหนดเวลาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบข้อกล่าวหา
--------------------------------------------------
📍 เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼
⚖️ รู้ไว้! “สิทธิ” ของคุณ เมื่อถูกเชิญไปรับทราบข้อกล่าวหา การไปรับทราบข้อกล่าวหา ไม่ได้หมายความว่าคุณหมดสิทธิ!ในกระบวนการยุติธรรม ผู้ถูกกล่าวหายังมีสิทธิสำคัญหลายประการ ที่สามารถใช้เพื่อปกป้องตัวเอง และรักษาความยุติธรรมให้เกิดขึ้น
ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะมีสิทธิ์อะไรบ้างไปติดตามกันได้เลยครับ
สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาเมื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา
(1) สิทธิในการนำทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจเข้าร่วมการรับทราบข้อกล่าวหา
ในการรับทราบข้อกล่าวหา หากผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าเพื่อประโยชน์ในการรับทราบข้อกล่าวหา ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หรือดำเนินการที่เกี่ยวข้องในคดีต่อไป ผู้ถูกกล่าวหาจะนำทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังการรับทราบข้อกล่าวหาก็ได้ แต่สามารถนำทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังการรับทราบข้อกล่าวหาได้ไม่เกิน 3 คน โดยสามารถแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มการรับทราบข้อกล่าวหาหรือระหว่างรับทราบข้อกล่าวหาก็ได้
(2) สิทธิในการคัดค้านบุคคลที่ร่วมดำเนินการไต่สวน
ก. คดีอาญา คดีร่ำรวยผิดปกติ คดีมาตรฐานจริยธรรม คดีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และคดีฝ่าฝืนมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ
ในวันรับทราบข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องตรวจสอบและพิจารณารายชื่อบุคคลที่อยู่ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา บุคคลที่มีรายชื่อเป็นกรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ร่วมดำเนินการไต่สวน มีเหตุที่จะต้องคัดค้านหรือไม่
เหตุใดตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 56 กำหนด ให้ผู้ถูกกล่าวหามีหนังสือแจ้งมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ทันที ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย พิจารณาว่ามีเหตุตามที่คัดค้านหรือไม่
ข. คดีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือยื่นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน
กฎหมายมิได้กำหนดหลักการคัดค้านกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ ดังนั้น ในคดีประเภทนี้ ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีสิทธิคัดค้านกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบทรัพย์สิน
(3) สิทธิในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเสนอพยานหลักฐาน
หากผู้ถูกกล่าวหาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าตนเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี และประสงค์จะรับสารภาพหรือปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือนำเสนอพยานหลักฐานใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันนัดแจ้งข้อกล่าวหาก็สามารถมอบพยานหลักฐานหรือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเรียกพยานบุคคลที่เห็นว่าสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องได้ หรือจะให้สอบปากคำพยานที่ตนได้นำไปด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจเข้าร่วมชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ไม่เกิน 3 คน
ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องรักษาสิทธิในการนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น และจะต้องนำส่งพยานหลักฐานของตนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และหากกรณีมีข้อขัดข้องที่ไม่อาจดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้ จะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือคณะไต่สวนเบื้องต้นโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมิได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือคณะไต่สวนเบื้องต้น ยังคงมีหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น อันเป็นการดำเนินการในระบบไต่สวน ทั้งนี้ ในการพิจารณาของศาลในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งเป็นการพิจารณาคดีอาญาระบบไต่สวน พยานหลักฐานทั้งหมดเป็นพยานหลักฐานของศาล คู่ความมีหน้าที่เสมือนผู้ช่วยเหลือศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งในวันตรวจพยานหลักฐาน กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามิได้โต้แย้งพยานหลักฐานใด หรือมีการโต้แย้งแต่ไม่มีเหตุแห่งการโต้แย้งโดยชัดแจ้ง ศาลจะมีคำสั่งให้รับฟังพยานหลักฐานนั้นโดยไม่ต้องไต่สวนก็ได้ และผู้ถูกกล่าวหาอาจเสียสิทธิในการซักถามพยาน
ดังนั้น การชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาโดยการปฏิเสธข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องแสดงเหตุผลประกอบโดยชัดแจ้ง รวมถึงแสดงพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนให้ครบถ้วนถูกต้องทุกประเด็นตามข้อกล่าวหา ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาให้ความเป็นธรรมหรือใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป การปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยไม่แสดงเหตุผลประกอบหรือไม่ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอาจทำให้เสียสิทธิในการต่อสู้คดีในชั้นศาลได้
หมายเหตุ
ในการพิจารณาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 - ภาค 9 และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้น กฎหมายกำหนดให้ศาลใช้ระบบไต่สวน โดยนำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องรักษาสิทธิในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วน
(4) สิทธิในการนำทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจเข้าร่วมการให้ปากคำ
นอกจากการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะเข้าให้ปากคำหรือถูกเชิญให้เข้าให้ปากคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจไม่เกิน 3 คน เข้าร่วมการให้ปากคำต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือคณะไต่สวนเบื้องต้นได้เช่นเดียวกับการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
(5) สิทธิในการขอตรวจพยานหลักฐานในสำนวน
ก. คดีอาญา คดีร่ำรวยผิดปกติ คดีมาตรฐานจริยธรรม คดีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และคดีฝ่าฝืนมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ
ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิขอตรวจพยานหลักฐานในสำนวนคดีได้ โดยจะนำทนายความ หรือบุคคลที่ตนไว้วางใจไม่เกิน 3 คน เข้าตรวจพยานหลักฐานในสำนวน หรือกรณีมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถเข้าตรวจพยานหลักฐานด้วยตนเอง ผู้ถูกกล่าวหาจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเข้าตรวจพยานหลักฐานก็ได้ และจะจดบันทึกหรือคัดลอกเอกสารก็ได้
หมายเหตุ
คณะกรรมการไต่สวน หรือคณะไต่สวนเบื้องต้นจะอนุญาตให้ตรวจพยานหลักฐานได้เท่าที่ไม่กระทบกับความปลอดภัยของพยานบุคคล ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำการร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้ชี้ช่องแจ้งเบาะแส หรือกระทบต่อสาระสำคัญของพยานหลักฐานในคดี
ข. คดีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือยื่นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน
กฎหมายมิได้กำหนดสิทธิดังกล่าวไว้ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อาจพิจารณาให้เปิดเผยข้อมูลหรือข้อเท็จจริงได้ ภายใต้เงื่อนไขของมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
--------------------------------------------------
📍 เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼
รู้หรือไม่? หากถูกกล่าวหาแต่ยังไม่ได้รับข้อกล่าวหา ไม่ใช่เรื่องเล็ก! มีขั้นตอนที่ต้องรีบดำเนินการ เพื่อรักษาสิทธิ์ในการชี้แจงและแสดงหลักฐาน มาดูวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนการ ป.ป.ช. กัน
"กรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับทราบข้อกล่าวหา"
หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับทราบข้อกล่าวหาไม่ว่าด้วยเหตุใดอันมใช่เหตุที่เกิดจากผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาประวิงเวลาหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ถูกกล่าวหาต้องรีบดำเนินการแสดงหลักฐานดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบทันที เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐานหรือนำพยานบุคคลมาให้ปากคำประกอบการชี้แจงภายในระยะเวลาที่กำหนด
กรณีไม่สามารถไปรับทราบข้อกล่าวหาตามกำหนดนัดได้
กรณีที่ไม่สามารถเดินทางไปรับข้อกล่าวหาได้เนื่องจากมีเหตุจำเป็นอื่น ผู้ถูกกล่าวหาสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
ก. การขออนุญาตเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหา กรณีดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. โดยเร็วก่อนวันนัด และหากมีหลักฐานแสดงได้ว่าที่ไม่สามารถเดินทางมาพบตามกำหนดนัดเนื่องจากมีเหตุจำเป็นอื่น ก็ให้ส่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ หนังสือแจ้งขออนุญาตเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ควรกำหนดวันเวลาที่จะนัดหมายเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาให้สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบด้วย
ข. การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาแทน กรณีนี้ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องดำเนินการจัดทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมารับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาแทน ทั้งนี้ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะต้องติดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนถูกต้องด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมิได้แจ้งข้อขัดข้องที่ไม่อาจมารับทราบข้อกล่าวหาตามกำหนดนัดหรือไม่กำหนดวันนัดหมายเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา สำนักงาน ป.ป.ช. จะส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามภูมิลำเนาหรือที่อที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือที่อยู่ที่ปรากฏจากการไต่สวน
หมายเหตุ
กรณีเป็นการส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหากล่วงพ้นระยะเวลาที่กำหนดให้ส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาคืนมายังสำนักงาน ป.ป.ช. แล้ว แม้สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้รับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้วและถือว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา นอกจากนี้ หากคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีโทษทางอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนีคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการขอให้ศาลออกหมายจับและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ก็ได้
--------------------------------------------------
📍 เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼
รู้ไว้… ไม่ตื่นตระหนก! หากวันหนึ่งคุณได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ ศาล หรือผู้ว่าคดีและคณะ อย่าเพิ่งตกใจ นี่คือขั้นตอนสำคัญในกระบวนการหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิดทางอาญาแล้ว
การเตรียมตัวเมื่อได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัว
1.กรณีได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการหรือศาล
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการหรือศาลหมายความได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนคดีที่มีโทษทางอาญาตามฐานความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดทางอาญาเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ หนังสือเชิญให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการหรือศาลดังกล่าวจะปรากฏรายละเอียดต่าง ๆ ได้แก่ วัน เวลา และสถานที่ และรายละเอียดของเอกสารหรือข้อมูลที่จะต้องจัดเตรียมเพื่อใช้ประกอบการรายงานตัวต่อพนักงานอัยการหรือศาล รวมถึงหลักประกันสำหรับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะขอปล่อยชั่วคราว และทนายความสำหรับการต่อสู้คดี ซึ่งโดยทั่วไปในทางปฏิบัติ วันและเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือเชิญดังกล่าว ถือเป็นวันเวลาที่อัยการสูงสุดจะนำตัวผู้ถูกกล่าวหาไปส่งฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจด้วย
2.กรณีมีหนังสือให้ไปรายงานตัวต่อผู้ว่าคดีและคณะ
กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัวต่อผู้ว่าคดีและคณะถือเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนหรือสอบสวนหรือตรวจสอบการกระทำที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ และได้พิจารณาแล้วมีมติ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ในคดีความผิดทางอาญาที่คณะกรรมการร่วมไม่อาจหาข้อยุติได้ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นสมควรให้ฟ้องคดีเอง
(2) ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ซึ่งเป็นคดีที่มีโทษทางอาญา
กรณีดังกล่าวข้างต้น เป็นคดีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการยื่นคำร้องหรือคำขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเอง ซึ่งหากเมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัวแล้ว ให้ผู้ถูกกล่าวหาตรวจสอบวัน เวลา และสถานที่ให้ละเอียดรอบคอบ
ทั้งนี้ หนังสือให้ไปรายงานตัวดังกล่าวจะระบุเอกสาร หลักประกัน หรือทนายความเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีเช่นเดียวกับคดีที่มีโทษทางอาญา
3.กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องไปรายงานตัว
ลักษณะของคดีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติดังต่อไปนี้ ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่ได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัว เนื่องจากลักษณะคดีเป็นคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือคดีรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะทราบว่าตนถูกดำเนินคดีก็เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้อง หรือสำเนาคำร้องแล้ว ได้แด้แก่
(1) คดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งจะต้องฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งจะต้องฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
(2) คดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ้าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งจะต้องฟ้องต่อศาลฎีกา
(3) คดีเจ้าหน้าที่ของรัฐจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่าฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 144 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
ทั้งนี้ คดีประเภทดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ผู้ถูกกล่าวหาจะมิได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือศาล ผู้ถูกกล่าวหาจะทราบว่ามีการฟ้องคดีเมื่อได้รับสำเนา
คำฟ้อง คำร้อง จากศาลที่มีเขตอำนาจ โดยคดีตาม (1) อาจเป็นได้ทั้งกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเองก็ได้ ส่วนคดีตาม (2) และ (3) เป็นคดีที่กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการฟ้องหรือยื่นคำร้องเอง
ดังนั้น หากผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับสำเนาคำฟ้องหรือสำเนาคำร้อง และอยากทราบว่าเรื่องกล่าวหาของตนอยู่ในขั้นตอนใด ผู้ถูกกล่าวหาสามารถประสานไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดที่รับผิดชอบ หรือสำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตที่รับผิดชอบ แล้วแต่กรณี
--------------------------------------------------
📍 เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼
ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว... ทุกท่านได้ทราบกันแล้วถึงเรื่องราวของการเตรียมตัวเมื่อได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัว ก่อนจะถึงวันนัดรายงานตัวการเตรียมตัวให้พร้อมคือสิ่งสำคัญ
อย่าลืม! เอกสารและสิ่งที่ต้องนำติดตัวไปในวันนัด สามารถช่วยให้ขั้นตอนเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งจะมีอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลยครับ
สิ่งที่ต้องเตรียมไปในวันนัด
เมื่อได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการหรือศาล หรือต่อผู้ว่าคดีและคณะ ตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ในหนังสือเชิญให้ไปรายงานตัว ผู้ถูกกล่าวหาจะต้อง
เตรียมความพร้อม รวมถึงจัดเตรียมการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง
(2) สำเนาทะเบียนบ้าน
(3) หนังสือรับรองทะเบียนนิติบุคคล กรณีผู้แทนนิติบุคคล
(4) ประกันและหลักประกัน สำหรับคดีที่มีโทษทางอาญา
(5) ทนายความเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดี
--------------------------------------------------
📍 เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼
จากตอนที่แล้ว... เราได้พูดถึง “สิ่งที่ต้องเตรียมไปในวันนัดรายงานตัว” ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ผู้ถูกกล่าวหาควรรู้ล่วงหน้า เรื่องราวในวันนี้ หากคุณได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัว หมายความว่าคุณกำลังจะถูกฟ้องคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจแล้ว! หากต้องการขอ ปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว) ก็ต้องเตรียม “หลักประกัน” ให้พร้อม โดยหนังสือแจ้งนั้นจะบอกชัดเจนว่าคุณถูกกล่าวหาฐานความผิดอะไร และศาลใดมีเขตอำนาจ เพื่อให้คุณมีโอกาส ตรวจสอบข้อมูลและเตรียมตัวต่อสู้คดีได้อย่างรอบคอบ ติดตามรายละเอียดในโพสต์นี้ได้เลย....
การจัดเตรียมหลักประกัน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัว ย่อมหมายความว่าผู้ถูกกล่าวหากำลังจะถูกฟ้องคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ซึ่งหากผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะขอปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว) ระหว่างถูกดำเนินคดี ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเตรียมหลักประกัน โดยหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปรายงานตัวดังกล่าวจะระบุฐานความผิดที่กำลังจะถูกฟ้องและศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดี ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะดำเนินการตรวจสอบหลักประกันของศาลที่มีเขตอำนาจว่า คดีที่ถูกฟ้องจะต้องใช้หลักประกันประเภทใด เป็นจำนวนเท่าใด
โดยทั่วไปหลักประกันที่สามารถใช้เพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลได้ ได้แก่
(1) เงินสด
(2) หลักทรัพย์อื่น เช่น
ㆍโฉนดที่ดิน
ㆍหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก. หรือ น.ส. 3)
ㆍพันธบัตรรัฐบาล
ㆍสลากออมสิน
ㆍสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสมุดเงินฝากประจำหรือใบรับเงินฝากประจำของธนาคาร
ㆍหนังสือค้ำประกันหรือหนังสือรับรองของธนาคารเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
ㆍหนังสือรับรองของบริษัทประกันภัย
(3) บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกัน
(4) หนังสือรับรองตำแหน่งและเงินเดือน กรณีส่วนราชการออกหนังสือรับรองการขอปล่อยชั่วคราว
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ความชัดเจน ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องตรวจสอบเงื่อนไขการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว รวมถึงเอกสารที่ต้องใช้ประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราวล่วงหน้าก่อนถึงวันนัด โดยการสอบถามหรือตรวจสอบจากประกาศของศาลที่มีเขตอำนาจ เรื่อง การใช้บัญชีมาตรฐานหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงสิทธิในการขอปล่อยชั่วคราวของผู้ถูกกล่าวหาเอง
การตรวจสอบจำนวนวงเงินประกัน
เนื่องจากการพิจารณาปล่อยชั่วคราวเป็นดุลพินิจของศาล และเป็นการไม่แน่ชัดว่าศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกัน ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ประสงค์จะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในระหว่างต่อสู้คดี จะต้องดำเนินการตรวจสอบจำนวนวงเงินประกัน โดยโทรศัพท์ติดต่อสอบถามไปยังศาลที่มีเขตอำนาจ แล้วแต่กรณี
ซึ่งได้แก่
(1) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
(2) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 - 9
(3) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
กรณีไม่ไปรายงานตัว
กรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปรายงานตัวตามกำหนดนัดโดยไม่มีเหตุอันควรจะอ้างได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรืออัยการสูงสุด อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อออกหมายจับก็ได้
หากมีข้อสงสัย สามารถโทรศัพท์ประสานไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ตามหนังสือแจ้งขอให้ไปรายงานตัวหรือสอบถามพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้ไปรายงานตัวได้
หมายเหตุ
ในการปล่อยชั่วคราว นั้น พนักงานอัยการหรือศาลที่มีเขตอำนาจอาจใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ทำสัญญาประกันและไม่มีหลักประกันก็ได้