Contrast
Font
5c2b5e8a043cc3ff393d918e636833bf.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼️ เรื่อง "การปกปิดข้อมูลและคุ้มครอง พยานหรือผู้แจ้งเบาะแสในคดีทุจริต"

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1111

24/05/2566

สำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการปกปิดข้อมูลของพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสเป็นอย่างยิ่ง โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 ได้กำหนดห้ามไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทำการอันใดอันจะทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว และ มาตรา 37 ได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 36 กล่าวคือ หากตรวจสอบพบว่ามีการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 36 ให้เลขาธิการดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาตัวผู้เปิดเผยข้อมูลโดยเร็ว หากตรวจสอบพบให้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่เปิดเผยข้อมูล หากเป็นกรณีที่กระทำโดยจงใจให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมาตรา 180 ได้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่เปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่เป็นการเปิดเผยชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหา หรือชื่อและที่อยู่ของผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

แต่ก็มีบางกรณีที่ข้อมูลของพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนโดยเหตุสุดวิสัย (เช่น ผู้ถูกกล่าวหาขอคัดสำนวนการไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. ในชั้นศาล หรือ ทราบจากบุคคลภายนอก) หรือโดยความตั้งใจของพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสเอง จนทำให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทราบว่าบุคคลใดเป็นพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสในคดีทุจริต และอาจทำให้เกิดความโกรธเคืองหรือ

ไม่พอใจต่อผู้ที่มาเป็นพยานหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสได้ กรณีนี้ หากสำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่าพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสไม่ได้รับความปลอดภัยหรือถูกกลั่นแกล้งในการปฏิบัติงานในหน้าที่ หรือมีผู้ร้องขอคุ้มครองช่วยเหลือพยานเมื่อเกิดกรณีดังกล่าว ทางสำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นสำนักที่มีภารกิจในการคุ้มครองช่วยเหลือพยานก็จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ไม่ได้รับความปลอดภัยหรือผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง นั้น รวมทั้งให้ความคุ้มครองช่วยเหลือแก่ครอบครัวหรือผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสด้วย และในบางกรณีทางสำนักงาน ป.ป.ช. อาจขอความร่วมมือจากสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือแก่บุคคลดังกล่าว

---------------

"วิธีที่ใช้ในการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน"

สำหรับวิธีการที่จะนำมาใช้ในการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน นั้น พิจารณาตามความร้ายแรงหรือความจำเป็นเร่งด่วนของพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับพยานหรือผู้แจ้งเบาะแส เช่น จัดพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มครอง ณ ที่พักอาศัยหรือสถานที่ที่พยานร้องขอ โดยที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ขอความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่พยานพักอาศัยเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยแก่พยาน, จัดให้พยานอยู่หรือพักอาศัยในสถานที่ที่สำนักงานกำหนด, ประสานการปฏิบัติงานไปยังต้นสังกัดของพยานในการพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่พยาน หรือกำกับ ดูแล ควบคุมสั่งการพยาน โดยยึดหลักกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการ รวมทั้งจริยธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพิเศษในการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน เช่น ย้ายที่อยู่หรือจัดหาที่พักอันเหมาะสมให้แก่พยาน (safe house) หรือ จ่ายค่าเลี้ยงชีพที่สมควรแก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานหรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน สำนักงาน ป.ป.ช. โดยอำนาจของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้ที่ไม่ได้รับความปลอดภัยหรือผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเป็นการชั่วคราวในทันที ก่อนที่จะนำเสนคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อมีมติ ตามที่เห็นสมควรก่อนได้ ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน พ.ศ. 2562 ข้อ 12

นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองช่วยเหลือพยานในคดีทุจริต ซึ่งในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการคุ้มครองพยานโดยตรง คือ สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น จึงมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการปฏิบัติและประสานงานการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ช. กับสำนักงานคุ้มครองพยาน และระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อร่วมกันดำเนินการคุ้มครองช่วยเหลือพยานให้ได้รับความปลอดภัยและให้พยานในคดีทุจริตเกิดความเชื่อมั่นในการเข้ามาให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ

---------------

"กระบวนการคุ้มครองช่วยเหลือพยานของสำนักงาน ป.ป.ช. ตามมาตรา 131"

เมื่อมีผู้ร้องขอคุ้มครองช่วยเหลือพยาน หรือในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าคดีใดสมควรจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือพยานแก่ ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาตรา 131 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความคุ้มครองช่วยเหลือแก่บุคคลดังกล่าว โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม และในกรณีที่ ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกกลั่นแกล้งหรือได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติงานในหน้าที่ อันเนื่องจากการกล่าวหาหรือให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลนั้น สามารถร้องขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ความคุ้มครองการปฏิบัติงานในหน้าที่แก่บุคคลดังกล่าวได้ ตามมาตรา 133 โดยมีกระบวนการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ดังนี้

  1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นเอง หรือผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอต่อสำนักงาน ป.ป.ช. หรือต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน (ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ข้อ 7 และ ข้อ 8)
  2. หน่วยงานอื่นประสานการปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือพยานกับสำนักงาน ป.ป.ช. หรือในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือพยานในทันที ก็ให้หน่วยงานนั้นดำเนินการคุ้มครองช่วยเหลือพยานตามความจำเป็นเร่งด่วนไปพลางก่อน เพื่อจัดให้ผู้ร้องขอได้รับความคุ้มครองตามสมควร (ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ข้อ 8 (2))
  3. กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ร้องขอในทันทีก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อมีมติ สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ร้องขอเป็นการชั่วคราวตามที่เห็นสมควร โดยใช้มาตรการทั่วไปในการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือ (ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ข้อ 12)
  4. พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการบันทึกปากคำและความยินยอมของผู้ร้องขอตามแบบที่สำนักงานกำหนด (แบบ คช. 1 คำร้องขอคุ้มครองช่วยเหลือพยาน, แบบ คช. 2 บันทึกปากคำผู้ร้องขอเกี่ยวกับพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัยหรือพฤติการณ์การถูกกลั่นแกล้งและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง, แบบ คช. 3 แบบบันทึกความยินยอมของผู้ร้องขอ) และดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน นั้น จะเป็นการตรวจสอบพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัย หรือพฤติการณ์การกลั่นแกล้งตามที่ผู้ร้องขอกล่าวอ้าง ว่ามีพฤติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร และเป็นผลอันสืบเนื่องจากการที่ผู้ร้องขอเป็นพยานหรือแจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูลแก่สำนักงาน ป.ป.ช. หรือไม่ (ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ข้อ 10 วรรคหนึ่ง (1) (2))
  5. พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณามีมติ โดยระบุว่าสมควรจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือพยานโดยใช้มาตรการทั่วไปหรือใช้มาตรการพิเศษ และให้สำนักงานเป็นผู้ให้ความคุ้มครองช่วยเหลือพยานหรือมอบหมายให้หน่วยงานอื่น เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น เป็นผู้ดำเนินการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน (ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ข้อ 10 วรรคสอง)

- กรณีที่กำหนดให้นำมาตรการทั่วไปมาใช้ในการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้ร้องขอจะใช้วิธีการตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ข้อ 14 เช่น จัดพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มครอง ณ ที่พักอาศัยหรือสถานที่ที่พยานร้องขอ หรือจัดให้พยานอยู่หรือพักอาศัยในสถานที่ที่สำนักงานกำหนด เป็นต้น

- กรณีที่กำหนดให้นำมาตรการพิเศษมาใช้ในการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้ร้องขอ จะใช้วิธีการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565) เช่น ย้ายที่อยู่หรือจัดหาที่พักอันเหมาะสมให้แก่พยาน (safe house) หรือ จ่ายค่าเลี้ยงชีพที่สมควรแก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานหรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน เป็นต้น (พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2565)

  1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ความคุ้มครองช่วยเหลือพยาน หรือไม่ให้ความคุ้มครองช่วยเหลือพยาน หลังจากนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการแจ้งมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ผู้ร้องขอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ (ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ข้อ 11)
  2. ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน สามารถนำงบประมาณจากกองทุนป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ มาสนับสนุนภารกิจดังกล่าวได้ ตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ข้อ 23 (2)
  3. ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยาน สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ในคดีอาญา เช่น ค่าที่พักพยาน ค่าอาหารเครื่องดื่มของพยาน หรือค่าเลี้ยงชีพของพยาน เป็นต้น ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยาน สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ในคดีอาญา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  4. การคุ้มครองช่วยเหลือพยานสิ้นสุดลงเมื่อเกิดกรณีดังต่อไปนี้ เช่น พยานถึงแก่ความตาย พยานร้องขอให้ยุติการคุ้มครองช่วยเหลือหรือขอเพิกถอนความยินยอม หรือพฤติการณ์แห่งความไม่ปลอดภัยของพยานเปลี่ยนแปลงไปและกรณีไม่มีความจำเป็นจะต้องให้ความคุ้มครองอีกต่อไป เป็นต้น (ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน พ.ศ. 2562 ข้อ 18)

ทั้งนี้ การดำเนินการอันเกี่ยวกับการคุ้มครองช่วยเหลือพยานและที่เกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองช่วยเหลือพยานตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน พ.ศ. 2562 ให้ดำเนินการเป็นการลับ (ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน พ.ศ. 2562 ข้อ 6) และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองหรือช่วยเหลือก่อน (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 131 วรรคสอง) นอกจากนี้ บุคคลใดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานของรัฐ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติกันไว้เป็นพยาน ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองช่วยเหลือทั้งด้านความปลอดภัย และด้านการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วย (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 135)

---------------

กรณีศึกษา คุ้มครองช่วยเหลือพยานถูกข่มขู่คุกคามและถูกกลั่นแกล้ง

นางสาว ก. ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นผู้ร้องขอคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ถูกข่มขู่คุกคามและถูกกลั่นแกล้งจากผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหลายประการ (เป็นผลสืบเนื่องจากการกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตมายังสำนักงาน ป.ป.ช.) เช่น มีการใช้ตะปูเรือใบวางไว้ใกล้ล้อรถยนต์ของนางสาว ก. ที่จอดอยู่ในที่ทำงาน การใช้อาวุธปืนยิงไปยังอาคารห้องประชุมซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับที่ทำงานเพื่อข่มขู่นางสาว ก. ส่งคนสะกดรอยติดตาม นางสาว ก. ขณะเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวัน พูดจาข่มขู่ว่าจะทำร้ายด้วยวิธีการต่างๆ ใช้อำนาจกลั่นแกล้งในการปฏิบัติงานในหน้าที่ สร้างสถานการณ์ให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจผิดว่า นางสาว ก. ทำงานล่าช้าจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ เป็นต้น

เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับคำร้องขอคุ้มครองช่วยเหลือพยานจึงได้ดำเนินการบันทึกปากคำและความยินยอมของนางสาว ก. ตลอดจนตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีพฤติการณ์ตามที่นางสาว ก. กล่าวอ้างจริง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ความคุ้มครองด้านความปลอดภัยและการปฏิบัติงานในหน้าที่แก่นางสาว ก. โดยการประสานไปยังสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อดำเนินการคุ้มครองความปลอดภัยแก่นางสาว ก. และสำนักงานคุ้มครองพยานได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการคุ้มครองความปลอดภัยแก่นางสาว ก. เช่น จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่ผู้ร้องขอพักอาศัยในการตรวจตราสถานที่ทำงานของ นางสาว ก. และดูแลความปลอดภัยแก่ นางสาว ก. ขณะเดินทางจากที่ทำงานไปยังที่พักอาศัย และจากที่พักอาศัยไปยังที่ทำงาน เป็นต้น ส่วนการคุ้มครองการปฏิบัติงานในหน้าที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ประสานความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้กำกับดูแลผู้บังคับบัญชาของนางสาว ก. ให้กำกับดูแลผู้ร้องขอด้วยความเป็นธรรม และยึดหลักกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการ รวมทั้งจริยธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด โดยต่อมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการย้าย นางสาว ก. ไปปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐอื่น

---------------

กรณีศึกษา คุ้มครองช่วยเหลือพยาน ถูกข่มขู่คุกคามและถูกกลั่นแกล้ง

นาย ข. ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นผู้ร้องขอคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ถูกผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้ง โดยการใช้อิทธิพลของตนเองรวบรวมรายชื่อประชาชนในพื้นที่ เพื่อร้องเรียนการปฏิบัติงานของนาย ข. อันเป็นเหตุให้ นาย ข. อาจถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ห่างไกลจากภูมิลำเนา (เป็นผลสืบเนื่องจากการกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตมายังสำนักงาน ป.ป.ช.)

เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับคำร้องขอคุ้มครองช่วยเหลือพยาน จึงได้ดำเนินการบันทึกปากคำและความยินยอมของนาย ข. ตลอดจนตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีพฤติการณ์ตามที่นาย ข. กล่าวอ้างจริง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติคุ้มครองการปฏิบัติงานในหน้าที่แก่นาย ข. โดยได้ประสานการปฏิบัติงานไปยังหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดของนาย ข. เพื่อขอความร่วมมือในการพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่นาย ข. เกี่ยวกับการย้ายออกนอกพื้นที่ และขอความร่วมมือในการกำกับ ดูแล ควบคุมและสั่งการ ให้ผู้บังคับบัญชาของนาย ข. ปฏิบัติกับ นาย ข. โดยยึดหลักกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการ รวมทั้งจริยธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด

Related