จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1133
"เจ้าพนักงานปลอมเอกสารทะเบียนการหย่า"
ข้อเท็จจริง นาย ช. ในฐานะปลัดอำเภอ ก. รักษาราชการแทนนายอำเภอ ก. ทำหน้าที่นายทะเบียนอำเภอ ก. ได้ดำเนินการจดทะเบียนหย่าให้นาง ส. โดยที่คู่สมรสของนาง ส. มิได้เดินทางมาจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนอำเภอ ก. แต่อย่างใด
นาย ช. ได้สั่งการให้นาย ส. สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอำเภอ ก. ช่วยงานบัตรประจำตัวประชาชน สำนักทะเบียนอำเภอกระสัง ทำการเขียนทะเบียนการหย่า (คร.6) ตามร่างบันทึกที่ผู้ถูกกล่าวหาให้เขียนลงในทะเบียนซึ่งมีข้อความว่าบุคคลทั้งสองฝ่ายสมัครใจหย่าขาดจากกัน และยินยอมให้บุตรทั้งสองคนอยู่ในความปกครองของนาง ส. และเรื่องทรัพย์สินคู่หย่าทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะให้นายทะเบียนบันทึกไว้แต่อย่างใด โดยสั่งการให้บุคคล 2 ราย ลงลายมือชื่อในฐานะพยานในทะเบียนการหย่าดังกล่าว และลงลายมือชื่อของนาย ช. ในฐานะนายทะเบียนในทะเบียนการหย่า (คร.6)
ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างลายมือชื่อของคู่สมรสอีกฝ่ายในทะเบียนการหย่า (คร.6) จากกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานวิทยาการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นว่าลายมือชื่อดังกล่าว มีคุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกัน จึงลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน จึงฟังได้ว่าลายมือชื่อในทะเบียนการหย่า (คร.6) เป็นลายมือชื่อปลอม และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้นาย ช. เป็นผู้รับจดทะเบียนการหย่า จึงเป็นผู้กระทำการปลอมหรือเป็นตัวการในการปลอมลายมือชื่อดังกล่าว เนื่องจากในการจดทะเบียนการหย่าจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานประกอบคำร้องขอจดทะเบียนการหย่า เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และใบสำคัญการสมรส เป็นต้น โดยนาย ช. ในฐานะนายทะเบียนย่อมมีหน้าที่ชี้แจงผลการจดทะเบียนการหย่าให้คู่หย่าทราบ และคู่หย่าต้องลงลายมือชื่อในทะเบียนการหย่าต่อหน้านายทะเบียน แสดงให้เห็นว่าคู่หย่าต้องมาแสดงตัวต่อหน้านายทะเบียน จึงย่อมรู้ข้อเท็จจริงว่าบุคคลซึ่งปรากฏต่อหน้าตนเพื่อขอจดทะเบียนการหย่านั้นเป็นคู่สมรสที่ต้องการจดทะเบียนการหย่าจริงหรือไม่ แต่ยังคงดำเนินการจดทะเบียนการหย่าให้นาง ส. ไปโดยมิชอบ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ช. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 161 ประกอบมาตรา 96
----------
"เพิ่มชื่อบุคคลไม่ปรากฏสัญชาติลงในทะเบียนบ้าน และจัดทำบัตรประชาชนเป็นเท็จ"
สำนักทะเบียนท้องถิ่นเขต บ. กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการแจ้งย้ายปลายทางอัตโนมัติรายนางสาว ป. จากบ้านเลขที่ในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าบ้านเลขที่ในเขต บ. กรุงเทพมหานคร จากการตรวจสอบพบว่า นางสาว ป. พูดภาษาไทยไม่ชัด เขียนหนังสือไทยไม่ได้ และอ้างว่าเคยเรียนที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งผลการตรวจสอบจากสำนักทะเบียนอำเภอ ล. จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่า มีการออกสูติบัตรกรณีแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลาให้กับบุคคลดังกล่าว ระบุเป็นบุตรของนาย ต. และนาง ส. และมีการเพิ่มชื่อเข้าในบ้านเลขที่ในอำเภอ ล. จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้มีการยื่นคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้เป็นบุตรของนาย ต. แต่อย่างใด และจากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนางสาว ป. ซึ่งเป็นบุคคลที่มีการแจ้งเกิดเกินกำหนดและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านเลขที่ในอำเภอ ล. จังหวัดกาญจนบุรี พบว่ายังมีการกระทำผิดโดยมีการเพิ่มชื่อบุคคลอีก 1 คน ซึ่งแจ้งเกิดเกินกำหนดและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านเดียวกันกับนางสาว ป. โดยในวันเดียวกันได้มีการยื่นคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนอีกด้วย
การตรวจสอบเอกสารสูติบัตรการแจ้งเกิดเกินกำหนด สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน และฉบับสำนักทะเบียนอำเภอ ล. เอกสารใบคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน (บ.ป. 1) และใบรับคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน (บ.ป. 2) ของบุคคลทั้งสองราย ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของนาย ม. ขณะดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ ล. จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งรับผิดชอบงานด้านทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนในช่องนายทะเบียนผู้รับแจ้งการเกิดของสูติบัตร ในช่องนายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายเข้าในสำเนาทะเบียนบ้าน และในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ในเอกสารใบ บ.ป. 1 และใบ บ.ป. 2 และนอกจากนี้ ยังปรากฏลายมือชื่อเขียนและลายมือชื่อของนาง จ. เจ้าหน้าที่ปกครองระดับ 2 อำเภอ ล. จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งรับผิดชอบเป็นผู้ช่วยนาย ม. ในงานด้านบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเอกสารดังกล่าวสำนักทะเบียนอำเภอ ล. ได้มีการยกเลิกเนื่องจากเหตุทุจริตแล้ว
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาง จ. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) (4) และมาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 5 วรรคสี่ มาตรา 6 มาตรา 6 ตรี และมาตรา 6 จัตวา ประกอบมาตรา 14
----------
"การรับแจ้งเกิดและออกหลักฐานใบรับแจ้งการเกิดอันเป็นเท็จ"
นาย ก. ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้รับการแต่งตั้งจากผู้อำนวยการทะเบียนกลางให้เป็นนายทะเบียนผู้รับแจ้ง โดยให้มีหน้าที่ออกหลักฐาน 1. ใบรับแจ้งการเกิด ท.ร. 1 ตอนหน้า 2. ใบรับแจ้งการตาย ท.ร.4 ตอนหน้า 3. ใบรับแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร. 6 ตอนหน้า และ 4. ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน ท.ร. 9 ในเขตท้องที่หมู่บ้านของตน
ต่อมา นาย ข. ได้ไปแจ้งการเกิดเด็กหญิง A บุตรสาวของนาย ข. กับนาง อ. ไม่ทราบนามสกุล ว่าเป็นบุตรของตน และนาย ก. ได้รับจดแจ้งการเกิดของเด็กหญิง A ในใบรับแจ้งการเกิด ท. 1 ตอนหน้าว่าเป็นบุตรของนาย ข. กับนาง อ. อันเป็นเท็จ โดยนาย ก. และนาย ข. ได้รู้ข้อเท็จจริงอยู่ก่อนแล้วว่าเด็กหญิง A มิได้เป็นบุตรของนาย ข. กับนาง อ. แต่อย่างใด เป็นเหตุให้ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (4) และฐานทำ ใช้ หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือกระทำการเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านหรือเอกสารการทะเบียนราษฎรอื่นโดยมิชอบ ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 50 รับแจ้งเกิดและออกหลักฐานใบรับแจ้งการเกิดอันเป็นเท็จเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และการกระทำของนาย ข. เป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 86