Contrast
Font
f71de5ef3659327fda6bcf0aa3a85a56.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต!! “มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ”

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 3213

08/03/2566

 ที่มาของ “มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ

          อีกหนึ่งประเด็นปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ คือความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการจัดเก็บเงินรายได้และการใช้จ่ายเงินรายได้ เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีช่องทางในการทุจริตและแสวงหาประโยชน์จากการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมในส่วนของบัตรค่าบริการนักท่องเที่ยว

          ผลการศึกษาการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติทั้งระบบพบว่า ยังคงใช้ระบบการจัดเก็บรูปแบบเดิมและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น กระบวนการจัดเก็บเงินรายได้ยังคงมีช่องทางให้เจ้าหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ขณะที่ในต่างประเทศมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการป้องกันการทุจริต นอกจากนี้ ยังพบประเด็นปัญหาด้านการพิจารณาและอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติว่า ช่องทางการพิจารณาให้ใช้จ่ายเงินรายได้ขาดการมีส่วนร่วม และการขออนุมัติในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่อาจขาดความโปร่งใส

----------

ข้อเสนอแนะที่สำคัญ

  1. จัดทำและพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการและระบบการจองล่วงหน้า สำหรับบุคคลที่เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การใช้บัตรเข้ารับบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) การซื้อบัตรล่วงหน้าแบบออนไลน์เป็นต้น
  2. จัดทำข้อมูลขีดความสามารถในการรองรับได้ของแต่ละอุทยานแห่งชาติ (Carrying Capacity) ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน แล้วนำข้อมูลมาจัดทำแผนการบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติ
  3. ปรับปรุงระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บการรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ มีตัวแทนจากหน่วยงานภายนอก และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ
  4. เห็นควรกำหนดกรอบการใช้ดุลยพินิจของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2560 ข้อ 13 วรรคสอง กรณีการอนุมัติโดยกรณีจำเป็นเร่งด่วนให้มีหลักเกณฑ์และแนวทางที่มีความชัดเจนว่าควรใช้ในเรื่องใดบ้าง และควรกำหนดวงเงินงบประมาณและระยะเวลาในการใช้

Related