Contrast
Font
d8973b0ac0b481cdf6408ad751eb7689.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼️ เรื่อง "ของหลวงไม่ใช่ของเรา"

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1395

10/04/2566

"ของหลวงไม่ใช่ของเรา"

ราชการเป็นระบบการบริหารประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก จึงจำเป็นต้องมีระเบียบ กฎหมาย รวมถึงจริยธรรมที่ชัดเจน รัดกุมในการกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐขับเคลื่อนงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยบรรลุวัตถุประสงค์ให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุข เมื่อบุคคลใดเข้ามารับราชการ จึงเท่ากับอาสาที่จะมาทำงานให้แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ ดังนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ราชการย่อมจะต้องตระหนักรู้ในการดำรงตนตามระเบียบ กฎหมาย จริยธรรมเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่และการปฏิบัติตน โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม หรือ Conflict of Interest

แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนที่มักเข้าใจว่าการใช้ทรัพย์สินของราชการ หรือของหลวงไปใช้
เป็นการส่วนตัวนั้นเป็นเรื่องปกติวิสัย เล็กน้อยๆ ที่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมหันต์เพราะผลจากการใช้ของหลวงอาจทำให้ได้รับความผิดและโทษตามระเบียบ กฎหมาย อย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายต้องตระหนักและแยกแยะให้ได้ว่า “ทรัพย์สินของรัฐ” หรือ “ทรัพยากรของรัฐ” ต้องใช้ไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ การจะใช้ทรัพยสินของรัฐ หรือทรัพยากรของรัฐได้ต้องมีวัตถุประสงค์เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นหลักเท่านั้น เพราะ ของหลวงไม่ใช่ของเรา หากนำไปใช้ส่วนตัวมีโทษถึงจำคุกได้

------

"กรณีผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดแห่งหนึ่ง
นำรถส่วนกลางไปใช้ประโยชน์"

ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งมีอำนาจ
หน้าที่ในการอนุญาตให้ใช้รถยนต์ส่วนกลางของสถานพินิจฯ จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดการหรือรักษารถยนต์ส่วนกลางซึ่งเป็นทรัพย์ของสถานพินิจฯ ได้มีคำสั่งให้พนักงานขับรถใช้รถยนต์ส่วนกลางรับส่งจำเลยระหว่างที่พักกับที่ทำงานเป็นประจำ และมีคำสั่งให้พนักงานขับรถนำรถยนต์ส่วนกลางพาจำเลยไปทำธุระส่วนตัวในวันเสาร์และอาทิตย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่สถานพินิจฯ

เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และยังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่การกระทำของจำเลยเมื่อเป็นความผิดตามบทเฉพาะตาม มาตรา 151 แล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก และแม้ภายหลังจำเลยกระทำความผิดได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 7 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 151 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) จำคุก 5 ปี

* คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 คดีหมายเลขดำที่ อท. 12/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อท. 33/2561
------
"กรณีนายกเทศมนตรีแห่งหนึ่ง นำรถส่วนกลางไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว"

ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ก. เป็นผู้มีอำนาจสั่งใช้รถส่วนกลางตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 จำเลยสั่งการด้วยวาจาให้นาย อ. ขับรถบรรทุก 6 ล้อ รถส่วนกลางให้ไปบรรทุกเศษไม้และกิ่งไม้ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งเพื่อขนไปทิ้งในที่สาธารณะ ซึ่งหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวพี่สาวจำเลยเป็นผู้จัดการ และเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลมิใช่พื้นที่สาธารณะ และอยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลเมือง ก. ต่อมาจำเลยได้สั่งการให้นาย อ. นำรถบรรทุกส่วนกลางดังกล่าวไปบรรทุกทรายบริเวณพื้นที่สาธารณะด้านหลังสำนักงานเทศบาล ข. และสั่งให้นำรถบรรทุกส่วนกลางคันดังกล่าวไปบรรทุกประตูเหล็ก ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลย

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151(เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด ฐานใช้อำนาจในตำแหน่ง โดยทุจริต รวมจำคุก 9 ปี 12 เดือน

*คำพิพากษาศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 คดีหมายเลขดำที่ อท. 72/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อท. 36/2563
------
"กรณีนายกเทศมนตรีแห่งหนึ่ง ใช้กระสอบบรรจุทราย คนงาน และรถของเทศบาลเพื่อประโยชน์ส่วนตน"

ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ข. มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาล จำเลยโทรศัพท์สั่งหัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยของเทศบาล ข. ให้ขนกระสอบบรรจุทรายของเทศบาลที่จัดซื้อมาเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาล ไปที่บ้านของจำเลยเพื่อใช้ป้องกันน้ำท่วมบ้านของจำเลยจำนวน 40 กระสอบ ซึ่งอยู่ในแขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร โดยใช้คนขับรถกระบะของเทศบาล พร้อมนำพนักงานเทศบาล จำนวน 3 คน ในการช่วยกันขนกระสอบทรายไปวางเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมหน้าประตูบ้านของจำเลย
ศาลพิพากษาว่า

จำเลยเป็นนายกเทศมนตรีสั่งการให้ใช้รถยนต์ของเทศบาลขนทรายพิพาทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่เทศบาล เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) จำคุก 8 เดือน

*คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2561

การนำของหลวงไปใช้ประโยชน์ส่วนตน นับเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญและเป็นบทเรียนสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องตระหนักรู้ในการแยกแยะประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนเห็นว่าการใช้ของหลวงเป็นเรื่องปกติเล็กน้อย และไม่ให้ความสำคัญ ยังคงปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง หรือปฏิบัติตามความเข้าใจผิดโดยถือเอาความสะดวกของตนเอง ดังนั้นการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ หรือการใช้ทรัพย์สินของราชการ เป็นสิ่งที่พึงระมัดระวังอย่างยิ่ง หากเกิดการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมแล้ว อาจต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกับกรณีศึกษาดังกล่าว ฝากเตือนเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกท่านเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ขอให้ตระหนักและเตือนตนอยู่เสมอว่า “ของหลวงไมใช่ของเรา !”

Related