จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 257
"ช่วยเหลือเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนแปลงเลขบัตรประชาชน"
นาย บ. ได้ไปพบนาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนและบัตร เพื่อขอให้ช่วยเปลี่ยนชื่อและรายการทางทะเบียนเพื่อเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ โดยนาย ก. เรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการช่วยเหลือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยนาย ก. ใช้รหัสประจำตัวของตนเองเข้าไปในฐานข้อมูลรหัสประจำบ้าน และแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของนาย บ. โดยสวมเลขประจำตัวประชาชนของผู้อื่น การกระทำของนาย ก จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้อื่นและทางราชการได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา 149 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 มาตรา 50
----------
"การแต่งตั้งบุคคลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน"
นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง A มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการในหน่วยงาน B นาย ก. ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง โดยกรรมการคัดเลือกจะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนั้น ทั้งในขณะที่ได้รับการแต่งตั้งและในระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ในการดำเนินการเพื่อเตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงาน A ได้มีการยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งเป็นบุคคลตรงตามคุณสมบัติ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีให้ข้อสังเกตว่าบุคคลใดอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน แต่นาย ก. ไม่ได้ลงนามในคำสั่งดังกล่าว อ้างว่ายังมีเวลาที่จะคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม ต่อมา นาย ก. ได้กำหนดรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขึ้นใหม่ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังกล่าว โดยกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 3 ราย อยู่ในข่ายเป็นบุคคลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำรงตำแหน่งกรรมการคัดเลือกฯ ตามที่สำนักงาน A ได้ให้ข้อสังเกตไว้ ซึ่งนาย ก. ได้ทราบถึงข้อสังเกตดังกล่าวนี้แล้ว แต่ยังคงแต่งตั้งบุคคลทั้งสามเป็นกรรมการคัดเลือกฯ โดยอ้างว่าเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์รอบด้าน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
----------
"แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"
นาย ก. ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้เสนอเรื่องระบบการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบและอนุมัติให้นำระบบดังกล่าวมาใช้ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้จัดทำบัญชีผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับสูง โดยต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมนักบริหารระดับสูงและผ่านการประเมินสมรรถนะของนักบริหาร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ ต่อมานาย ก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรี คือ ให้ผู้ผ่านการอบรมนักบริหารระดับสูงที่ ก.พ. รับรอง และให้ส่วนราชการที่มีตำแหน่งว่างสามารถเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงได้
นาย ข. ในฐานะปลัดกระทรวง นาย ค. ในฐานะรองปลัดกระทรวง นาย ง. ในฐานะอธิบดีกรม นาย จ. ในฐานะที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ. และ นาย ช ผู้แทน ก.พ. ใน อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งนาย ข. เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูง และเห็นสมควรให้แต่งตั้งผู้สมัครที่กรมเสนอ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดี โดยมิได้คัดเลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด การกระทำของนาย ก. นาย ข. นาย ค. นาย ง. นาย จ. และนาย ช. เป็นเหตุให้มีผู้เสียหายและได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าการที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเป็นการไม่ชอบด้วยมติคณะรัฐมนตรี และไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหาร ดังนั้นหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีคำพิพากษาว่าคณะกรรมการได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ และตามมติคณะรัฐมนตรี การกระทำมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สมัคร และมีการกำหนดตัวบุคคลไว้เป็นการล่วงหน้า จึงทำให้คำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
1) การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง
2) การกระทำของนาย ข. นาย ค. นาย ง. นาย จ. และนาย ช. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86