จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 522
"การเรียกรับเงินค่าป่วยการ เพื่อช่วยให้ได้รับมรดก"
นาง ก. ได้ไปพบ นาย ข. เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน และทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียนสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร ได้ปรึกษาเรื่องการโอนมรดกของสามี นาย ข. จึงได้แนะนำและช่วยจัดหาทนายความให้ และให้ยืมเงินค่าจ้างทนายความ ต่อมาเมื่อศาลจังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งคำร้อง จึงได้ยื่นขอโอนมรดกเฉพาะส่วนต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร ในระหว่างที่นาง ก. ขอจดทะเบียนรับมรดกของสามีนั้น นาย ข. ได้เรียกเงินจำนวน 1,000,000 บาท จากนาง ก. เป็นค่าป่วยการเพื่อช่วยให้ได้รับมรดก ซึ่งนาง ก. ตกลงยินยอมตามที่เรียกร้องและทำหลักฐานเป็นหนังสือให้ไว้ต่อกัน ต่อมา นาง ก. ตกลงขายที่ดินให้แก่นาย ข. ราคา 4,000,000 บาท มีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำไว้ โดยถือว่าเงิน 1,000,000 บาท ที่เรียกร้องนั้น เป็นเงินมัดจำส่วนหนึ่งตามสัญญา
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ข. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157
----------
"อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ข่มขู่เรียกรับผลประโยชน์"
ร้อยตำรวจเอก ก. และพวก อ้างตนเป็นตำรวจทางหลวงหรือตำรวจกองปราบปรามแต่ทำการขมขู่ เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินจากผู้ค้ากระเทียมเถื่อน โดยข่มขู่ว่าหากบุคคลใดไม่ยอมให้ทรัพย์สินตามที่เรียกร้องก็จะจับกุมดำเนินคดีในข้อหานำเข้ากระเทียมเข้ามาในราชอาณาจักรโดยลักลอบหนีภาษีศุลกากร รวมถึงการกรรโชกเอากระเทียมที่บรรทุกมาในรถและไม่จับกุมดำเนินคดี ร่วมกันบังคับให้รถบรรทุกกระเทียมเถื่อนหยุดรถเพื่อจะจับกุมแล้วละเว้นไม่จับกุมดำเนินคดี และการแต่งเครื่องแบบตำรวจกองปราบปราม เรียกร้องเงินจากเจ้าของกระเทียม และเป็นเงินรายเดือนอีก
นอกจากนี้ ร้อยตำรวจเอก ก. และพวก ได้เดินทางไปร้านอาหารแห่งหนึ่ง เรียกรับเงินจากเจ้าของร้านโดยอ้างว่าจะจับกุมในข้อหาจัดให้มีการค้าประเวณีในร้าน ซึ่งการกระทำของร้อยตำรวจเอก ก และพวกมีลักษณะและพฤติกรรมในการกระทำความผิดในแต่ละคราวคล้ายคลึงกัน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของร้อยตำรวจเอก ก. และพวก เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (12) และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83
----------
"เรี่ยไรเงินโดยขอร้องแกมบังคับให้โรงพยาบาล 6 แห่ง บริจาคเงินเพื่อซื้อรถตู้ไว้ใช้งาน"
นาย จ. ดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ กระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะในเขตตรวจราชการ ร่วมกับนางสาว อ. นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ และผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ข่มขืนใจหรือจูงใจผู้อำนวยการโรงพยาบาลภายในเขตตรวจราชการที่ 6 จำนวน 4 แห่ง ให้มอบเงินสวัสดิการโรงพยาบาลหรือเงินสนับสนุนโรงพยาบาล เพื่อนำมาซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อ VOLKWAGEN ราคา 3,1000,000 บาท จากบริษัท ท. เพื่อจะนำไปใช้ในราชการของเขตตรวจราชการ โดยไม่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 โดยโอนเข้าบัญชีแม่บ้านสาธารณสุข ส. และบัญชีสวัสดิการเขตตรวจราชการ รวมเงินจำนวนทั้งสิ้น 3,601,020 บาท ซึ่งต่อมาได้โอนเงินจำนวน 3,100,000 บาท จากบัญชีแม่บ้านสาธารณสุข ส. ให้บริษัท ท. เพื่อชำระเป็นค่ารถยนต์ยี่ห้อ VOLKWAGEN โดยได้เอาเงินส่วนที่เหลือ จำนวน 500,000 บาท ไปเป็นของตนเอง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้กันนางสาว อ. ไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี เนื่องจากนางสาว อ. ได้ให้ถ้อยคำอันเป็นประโยชน์ต่อการไต่สวนข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำความผิดของนาย จ. ตัวการสำคัญได้ ซึ่งขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจราชการเขต ได้รับมอบหมายจากนาย จ. ให้ช่วยติดต่อประสานงานกับผู้บริหารโรงพยาบาลในเรื่องการจัดซื้อรถยนต์นี้ กล่าวคือ เป็นผู้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้อำนวยการหรือเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลต่างๆ ให้โอนเงินเข้าบัญชีแม่บ้านสาธารณสุข ส. และบัญชีสวัสดิการเขตตรวจราชการ โดยเกิดขึ้นภายหลังจากที่นาย จ. ได้พูดคุยขอเรี่ยไรรับเงินบริจาค กำหนดจำนวนเงินกับผู้บริหารของโรงพยาบาลต่างๆ อันเป็นการข่มขืนใจหรือจูงใจผู้บริหารโรงพยาบาลและเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว การกระทำของนางสาว อ. เป็นเพียงกระทำตามคำสั่งของนาย จ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามที่ได้มอบหมายเท่านั้น
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย จ. มีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ฐานกระทำการอันได้ชื่ว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๘๕ (๑), (๔) มาตรา ๘๕ (๗) ประกอบมาตรา ๘๒ (๒) และมาตรา ๘๕ (๗) ประกอบมาตรา ๘๓ (๓)
และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘ และมาตรา ๑๕๗ โดยกันให้นางสาว อ. มาไว้เป็นพยานตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. ๒๕๕๔