Contrast
Font
a7cf4f45055996e026b83e67bc6c58fe.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼️ ประจำเดือนกันยายน

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 810

02/10/2566
Infographic ประจำวันที่ 1 กันยายน 2566
"เบียดบังเงินของราชการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน"

พันโท ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้านายทหารฝ่ายการเงิน ได้รับเช็คของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ซึ่งพันโท ก. มีหน้าที่ต้องนำเช็คส่งกรมการเงินทหารบก แต่ไม่ได้นำส่งตามอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด กลับนำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝาก ซึ่งเปิดในนามของกรมการเงินทหารบกแทน โดยระบุเงื่อนไขให้ตนเองมีสิทธิในการเบิกถอนเงิน จากนั้นได้เบิกถอนเงินออกจากบัญชีไปเป็นประโยชน์ส่วนตน

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของพันโท ก เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 15 และเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147

-------------
Infographic ประจำวันที่ 4 กันยายน 2566
"เบียดบังเงินที่อยู่ในความควบคุมดูแลไปเป็นของตนโดยทุจริต"

ธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งได้ทำการเปลี่ยนตู้ ATM โดยนาย ก เป็นหนึ่งในผู้ร่วมบรรจุเงินสดใส่ในตู้ ATM เครื่องใหม่ ซึ่งนาย ก. เป็นผู้ถือกุญแจเซฟและทราบรหัสเซฟของเครื่องเพียงผู้เดียว โดยไม่ส่งมอบกุญแจเซฟและแจ้งรหัสเซฟให้กรรมการคนอื่นทราบ ต่อมาได้มีการตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในตู้ ATM พบว่า มีเงินหายไปจำนวนหนึ่ง โดยนาย ก. ได้ทำการเบียดบังเงินที่บรรจุในตู้เซฟของตู้ ATM ไปเป็นประโยชน์สำหรับตน

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11

-------------
Infographic ประจำวันที่ 6 กันยายน 2566
"การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่และร่วมกันกับพวกเบียดบังเงินไปโดยทุจริต"

นางสาว ก. ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติในหน้าที่งานการเงิน ได้อาศัยโอกาสที่ได้รับมอบหมายในหน้าที่งานการเงิน ปลอมลายมือชื่อผู้รับเงินในใบรับเงิน ซึ่งเป็นหลักฐานส่งให้งานบัญชีดำเนินการลงรายการบัญชี นอกจากนี้ ยังได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่เขียนเช็คและครอบครองดูแลสมุดเช็คเพื่อเสนอผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค โดยได้เบียดบังเช็คไปโดยทุจริต เพื่อนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีชื่อให้เรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร และให้ผู้มีชื่อถอนเงินไปใช้ประโยชน์สำหรับตนเอง โดยนางสาว ข ช่วยเหลือในการแจ้งเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร และเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากให้นางสาว ก. หลายครั้งไปใช้ได้สำเร็จ การกระทำของนางสาว ก. จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และการกระทำของนางสาว ข. จึงเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนางสาว ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม ประกอบระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ. 2544 ข้อ 3 และข้อ 4 และเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 157 และมาตรา 161 และการกระทำของนางสาว ข. เป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

-------------
Infographic ประจำวันที่ 8 กันยายน 2566
"นำธนบัตรปลอมไปปะปนกับธนบัตรจริง เพื่อนำธนบัตรจริงไปใช้ประโยชน์สำหรับตนเอง โดยมิชอบ"

เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ได้มาขอเบิกเงินจากสำนักงานคลังจังหวัด ซึ่งขณะนั้น นาย ก. อยู่ระหว่างการประชุม นาย ข. ปฏิบัติหน้าที่แทน นำเงินสำรองจ่ายประจำวันจากตู้เก็บรักษาเงินสำรองจ่ายประจำวันซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของนาย ก. จ่ายให้ไป ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ธนาคารพบว่ามีธนบัตรปลอมจำนวน 1,000 บาท ปะปนจำนวน 33 ฉบับ ต่อมาสำนักงานคลังจังหวัดได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบธนบัตรของกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของนาย ก. พบว่า ธนบัตรปลอมจำนวน 1,000 บาท หายไป 71 ใบ โดยนาย ก. ยอมรับว่านำธนบัตรปลอมดังกล่าวนำไปปะปนกับธนบัตรจริง จำนวน 33 ใบ ต่อมานาย ก. ได้นำธนบัตรปลอมมาคืนให้แก่สำนักงานคลังจังหวัดในทันที โดยมิได้นำธนบัตรจริงคืนในคราวเดียวกัน แต่นำเงินจำนวน 33,000 บาท ไปทดแทนเงินที่ขาดหายไปในวันเดียวกัน
การกระทำของนาย ก. จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157

-------------
Infographic ประจำวันที่ 11 กันยายน 2566
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“กรณี เปลี่ยนผ่านรัฐบาล”

ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ตามประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2566 และพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 1 กันยายน 2566
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงส่งผลให้นายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ทั้งคณะ
ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบ ดังนี้
1. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
พร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง ในวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยมีระยะเวลาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ หากไม่สามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีฯ ได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566
2. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
พร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ในวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยมีระยะเวลาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ หากไม่สามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีฯ ได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566
1) กรณีรัฐมนตรีตามข้อ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีตามข้อ 2 ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นไว้เป็นหลักฐาน
2) กรณีดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีตามข้อ 2 ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นไว้เป็นหลักฐาน

-------------
Infographic ประจำวันที่ 13 กันยายน 2566
"ตัวอย่างการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน"

1. กรณีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งคณะ (รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
2. กรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน)
ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
3. กรณีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น (รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน) ภายในสามสิบวัน ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งเดิม และเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นไว้เป็นหลักฐาน
4. กรณีดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง เป็นกรณีเจ้าพนักงานของรัฐได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นไว้เป็นหลักฐาน
5. กรณีพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน)
เป็นกรณีที่ต้องยื่นบัญชีพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี

-------------
Infographic ประจำวันที่ 15 กันยายน 2566
"การปลอมเอกสารสัญญาจ้างทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเพื่อเบียดบังเอาเงินที่จ่ายเงินค่าจ้างตอบแทนให้เกินไปเป็นของตนเอง"

นาย ส. เป็นข้าราชการ ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสำนักงาน ส. ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่องค์การรัฐวิสาหกิจ ว. ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการองค์กรและกฎหมาย ในการช่วยราชการนี้ได้มีการทำสัญญาจ้างกันนาย ส. มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน กำหนดจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน เดือนละ 80,000 บาท ทุกสิ้นเดือน ต่อมานาย ส. ได้นำเอกสารสัญญาจ้างออกไปจากแผนกทรัพยากรบุคคล และต่อมาได้นำมาส่งคืนปรากฏว่าสัญญาจ้างแผ่นที่ 2 เดิมที่มีตัวเลขค่าจ้าง 80,000 บาท ถูกนำออกไปแล้วมีสัญญาจ้างเฉพาะแผ่นที่ 2 ที่ระบุอัตราค่าตอบแทนรายเดือนเป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท ใส่ไว้แทน และต่อมาก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าจ้างในแผ่นที่ 2 ใหม่อีกครั้ง โดยดึงสัญญาจ้างแผ่นที่ 2 ที่ระบุอัตราค่าจ้าง 120,000 บาทออกแล้วนำสัญญาจ้างเฉพาะแผ่นที่ 2 ซึ่งระบุอัตราจ้างจำนวน 100,000 บาทมาใส่ไว้แทน การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้องค์การรัฐวิสาหกิจ ว. ได้โอนเงินค่าตอบแทนเข้าบัญชีเงินฝากของนาย ส. จำนวน 3 ครั้ง ทำให้นาย ส. ได้รับเงินค่าตอบแทนเกินกว่าที่ตกลงกันจริงเป็นเงินจำนวน 88,412.23 บาท

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ส. มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามกฎ ก.ร. ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2537) ข้อ 3 (2) วรรคสาม และ (17) วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 มาตรา 48 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดทางวินัยของข้าราชการ ซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา266 และมาตรา 268

-------------
Infographic ประจำวันที่ 18 กันยายน 2566
"ไม่ออกใบเสร็จรับเงิน และนำเงินไปใช้ประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ"

พันตำรวจโท ก. ได้รับหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหาจากผู้ประกันแล้วไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ประกัน ไม่นำเงินประกันส่งมอบให้เจ้าหน้าที่การเงิน เพื่อนำฝากธนาคารตามระเบียบกระทรวงการคลัง และไม่ลงรายละเอียดลงในสมุดสถิติประกันประจำสถานีตำรวจ แต่ได้นำเงินประกันบางส่วนไปให้พันตำรวจโท ข. ใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยที่พันตำรวจโท ข. รู้แก่ใจตนเองดีว่าเป็นเงินประกันผู้ต้องหา เมื่อผู้ประกันมาขอพบเพื่อยื่นคำร้องขอเปลี่ยนหลักทรัพย์ประกันส่วนที่เป็นเงินสดมาเป็นโฉนดที่ดินแล้ว ก็ได้หลบเลี่ยงประวิงเวลาไม่ยอมให้พบ อีกทั้งเมื่อได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนหลักทรัพย์มาเป็นโฉนดที่ดินก็ได้คืนหลักทรัพย์ประกันที่เป็นเงินสดเพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือคืนให้ภายหลัง การกระทำของพันตำรวจโท ก. และพันตำรวจโท ข. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ผู้อื่นและราชการได้รับความเสียหาย และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของพันตำรวจโท ก. และพันตำรวจโท ข. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

-------------
Infographic ประจำวันที่ 20 กันยายน 2566
"เบียดบังเครื่องมือสื่อสารและอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืน"

นาย ก. ได้รับอนุมัติให้เบิกยืมเครื่องมือสื่อสารพร้อมอุปกรณ์จำนวน 1 ชุด และได้รับอนุมัติให้เบิกยืมอาวุธปืน ซอง และกระสุนปืนเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งนาย ก. มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาและระมัดระวังทรัพย์สินของทางราชการที่เบิกไปใช้ราชการมิให้เกิดชำรุด สูญหาย หรือเสียหาย ตามระเบียบกองพันสารวัตรทหารเรือที่ 1 กรมสารวัตรทหารเรือว่าด้วยการควบคุมเครื่องสรรพาวุธ พ.ศ. 2537 และระเบียบกองพันสารวัตรทหารเรือที่ 1 กรมสารวัตรทหารเรือว่าด้วยการเบิกยืมอาวุธปืนไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์อำนวยการร่วมกองบัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. 2540 การที่นาย ก. ไม่นำเครื่องมือสื่อสาร และอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนส่งคืนให้แก่ทางราชการ เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่านาย ก. มีเจตนานำเครื่องมือสื่อสาร และอาวุธปืน พร้อมเครื่องกระสุนปืนไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเองโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 15 ประกอบระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 ข้อ 2.1 และข้อ 2.9 และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 และมาตรา 157 ประกอบประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ. 2455 มาตรา 5

-------------
Infographic ประจำวันที่ 22 กันยายน 2566
"ทุจริตเงินธนาณัติไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง"

นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายไปรษณีย์ 3 ประจำแผนกรับฝาก ประจำที่ทำการไปรษณีย์ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รับ-จ่ายเงินธนาณัติ จัดทำบัญชีรับ-จ่ายเงินธนาณัติ ธน.64 (บัญชีรับเงินในธนาณัติในประเทศ) และ ธน.65 (บัญชีจ่ายเงินธนาณัติในประเทศ) โดยนาย ก. เป็นเจ้าหน้าที่รับฝากช่อง 6 ในระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2544 เมื่อนาย ก. ได้รับเงินจากผู้ฝากธนาณัติและจ่ายเงินให้กับผู้รับเงินธนาณัติในแต่ละวันแล้ว เมื่อสิ้นวันทำการ นาย ก. จะนำยอดเงินรวมรายรับมาลงรายการใน ธน.64 ให้ตรงกับจำนวนที่รับฝากจริง แต่จะลงรายการในระบบคอมพิวเตอร์ให้ต่ำกว่าจำนวนเงินที่รับจริง และนำยอดเงินรวมรายจ่ายมาลงรายการใน ธน.65 ให้ตรงกับจำนวนที่จ่ายจริง แต่จะลงรายการในระบบคอมพิวเตอร์ให้สูงกว่าจำนวนเงินที่จ่ายจริง เพื่อเบียดบังส่วนต่างไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเองโดยทุจริต

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 มาตรา 15

-------------
Infographic ประจำวันที่ 25 กันยายน 2566
"ทุจริตปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน"

นาย ก. ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชี ทำหน้าที่หัวหน้าส่วนการคลังขององค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง โดยมีอำนาจในการรับเงิน เบิกจ่ายเงิน ฝากเงิน เก็บรักษาเงิน ตรวจเงิน เขียนเช็คเสนอลงนาม และเก็บรักษาสมุดเช็ค กระทำการนำสมุดเช็คธนาคาร เขียนเช็คสั่งจ่ายเงิน โดยปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากขององค์การบริหารส่วนตำบลที่นาย ก. ทำงานอยู่ นำไปเบิกเงินจากธนาคาร และได้ปลอมลายมือชื่อของนาง ข. ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้รับเงิน แล้วยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนเป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง และตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบลเรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัยและการดำเนินการทางวินัย ข้อ 3 และข้อ 19ประกอบพระราชบัญญัติบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 26 ประกอบมาตรา 17 (6) และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 157 161 264 266 และมาตรา 268
-------------
Infographic ประจำวันที่ 27 กันยายน 2566
"ลงลายมือชื่อและปลอมลายมือชื่อเพื่อสั่งจ่ายเงินให้กับตนเอง และนำเช็คไปเบิกเงิน"

นาย ก. ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินร่วมกับนางสาว ข. นักวิชาการเงินและบัญชี 4 ในเช็คของสำนักงานบังคับคดีจังหวัด ได้กระทำการทุจริตโดยลงลายมือชื่อของตนและปลอมลายมือชื่อของนางสาว ข. สั่งจ่ายเงินให้หัวหน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดในเช็คจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งมีไว้สำหรับใช้ในราชการของสำนักงานบังคับคดีจังหวัด ทั้งที่ไม่มีมูลเหตุของทางราชการที่จะสั่งจ่ายเช็ค จากนั้นนาย ก. ได้นำเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารเป็นเงินรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,647,250 บาท แล้วยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 157 และมาตรา 161 และเป็นความผิดวินัย

-------------
Infographic ประจำวันที่ 29 กันยายน 2566
"ทุจริตนำเงินที่ได้รับชำระค่าใช้ไฟฟ้าไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง"

นาย ก. ดำรงตำแหน่งพนักงานการเงิน 4 กลุ่มงานเก็บเงิน แผนกเก็บเงินส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่รับชำระเงินค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้า แล้วนำเงินส่งแผนกการเงินเพื่อข้าบัญชีเป็นรายได้ของการไฟฟ้านครหลวง ต่อมาได้มีคำสั่งกำหนดให้พนักงานการเงิน แผนกเก็บเงิน ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ นำเงินที่ได้รับชำระค่าใช้ไฟฟ้าส่งเข้าบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยการไฟฟ้านครหลวง เพลินจิต ภายในเวลา 15:00 น. ของวันที่ได้รับชำระเงิน ทั้งนี้ ปรากฏพยานหลักฐานว่านาย ก. เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับชำระเงินค่าไฟฟ้าจำนวน 4 รายการ รวมเป็นจำนวนเงิน 32,190 บาท แล้วนาย ก. ไม่นำเงินที่ได้รับชำระค่าไฟฟ้าดังกล่าวนำเงินฝากเข้าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยการไฟฟ้านครหลวง เพื่อเข้าบัญชีการไฟฟ้านครหลวง ตามคำสั่งของการไฟฟ้านครหลวง แต่กลับยักยอกเงินค่าไฟฟ้าจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยมิชอบเป็นเหตุให้การไฟฟ้านครหลวงได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 และเป็นความผิดวินัย

Related