Contrast
Font
00add751d9db0b64e2d0cc580a256365.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼️ ประจำเดือนตุลาคม

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1331

01/11/2566

Infographic ประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2566
"นำสัญญาจ้างอันเป็นเท็จไปขายงวดงาน"
นาย 1 นาย 2 นาย 3 และนาย 4 ในฐานะพนักงานสินเชื่อ และ นาย 4 นาย 5 และนาย 6 ในฐานะผู้ตรวจสอบควบคุมดูแลการให้สินเชื่อของธนาคาร ก. ได้ร่วมกันพิจารณาให้สินเชื่อโดยรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัด A ที่นำสัญญาจ้างงานปลอมของส่วนราชการจำนวน 6 ฉบับ มาเป็นหลักประกันการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินต่อธนาคารก. โดยมิได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของสัญญาจ้างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด A นำมายื่นเป็นหลักฐานการกู้เงิน และไม่ได้ดำเนินการให้มีการจัดส่งสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องแจ้งหน่วยงานราชการคู่สัญญาให้รับทราบความยินยอมให้ธนาคารรับเงินแทนแต่กลับส่งมอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด A ไปดำเนินการเอง ทำให้หน่วยงานราชการคู่สัญญาจ้างไม่ทราบว่ามีการโอนสิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้ธนาคารก. ได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย 1 นาย 3 นาย 4 และนาย 6 เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามคำสั่งธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เรื่อง คู่มือและระเบียบพนักงาน หมวด 3 วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 4 (4.1) และ (4.7) และการกระทำของนาย 1 นาย 2 นาย 3 นาย 4 นาย 5 และนาย 6 เป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
และการกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด A เป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
สำหรับความผิดวินัยของนาย 2 และนาย 5 ได้พ้นสถานภาพการเป็นพนักงานไปก่อนแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องดำเนินการส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษทางวินัยอีก

-------------

Infographic ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2566
"ตรวจรับงาน และเบิกจ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับจ้าง ทั้งที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ"
เทศบาลตำบล A ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างระบบประปา ซึ่งได้ดำเนินการจัดจ้างไปแล้วและยังคงเหลือเงินอยู่บางส่วน ต่อมาทางจังหวัดได้แจ้งให้เทศบาลตำบล A ทำโครงการขอใช้เงินงบประมาณที่เหลือ โดยโครงการที่เสนอขอใช้เงินต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องเป็นประโยชน์กับระบบประปา เทศบาลตำบล A จึงได้เสนอโครงการขุดลอกขยายสระน้ำดิบ ผลการสอบราคาปรากฏว่า ร้าน ก. เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด และได้ทำสัญญากับเทศบาลตำบล A โดยกำหนดสัญญาจ้างเป็นระยะเวลา 180 วัน
ในเดือนที่ 3 นับแต่เดือนที่เริ่มสัญญา ผู้ควบคุมงานจำนวน 3 คน ได้ร่วมกันจัดทำรายงานประจำวัน ระบุผลงานก่อสร้างโดยมีผลงานสะสมของงานขุดลอกจำนวน 65 % แต่ไม่ได้ระบุสัดส่วนของผลงานรวมว่ามีเท่าใด และระบุปัญหาอุปสรรคว่าเนื่องจากมีน้ำจากแม่น้ำสายหลักในพื้นที่เอ่อล้นเข้ามาในบริเวณขุดลอกทำให้ไม่สามารถขุดลอกคันดินกั้นน้ำออกได้ ร้าน ก จึงได้มีหนังสือส่งมอบงานจ้างมายังเทศบาลตำบล A โดยระบุว่าได้ทำการตามสัญญาเสร็จเรียบร้อยตามรูปแบบรายงานและรายละเอียดทุกประการ และขอให้คณะกรรมการตรวจการจ้างไปทำการตรวจงานที่รับจ้าง ซึ่งนาย ค. นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล A พิจารณาแล้วเห็นควรให้ดำเนินการ
ต่อมาคณะกรรมการตรวจรับการจ้างได้ร่วมกันจัดทำใบตรวจรับงานจ้างเหมา โดยรับรองว่าผู้รับจ้างได้ทำงานจ้างงวดสุดท้ายเสร็จเรียบร้อยตามรูปแบบที่กำหนดแล้ว สมควรจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้แก่ผู้รับจ้างต่อไปซึ่งนาย ค. ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างและมีหนังสือขอเบิกเงินค่าก่อสร้างโครงการดังกล่าว พร้อมส่งสำเนาหลักฐานการตรวจรับการจ้างของคณะกรรมการตรวจรับการจ้างไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
1) การกระทำของ นาย ค. ผู้บริหารท้องถิ่น มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, มาตรา 157 และมาตรา 162 (2)
2) การกระทำของคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง และผู้ควบคุมงาน ที่เป็นพนักงานเทศบาลตำบล A มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83
3) การกระทำของกรรมการตรวจรับการจ้างที่แต่งตั้งจากประธานชุมชน มีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 162 (1)(4) ประกอบมาตรา 86 เช่นเดียวกับผู้รับจ้าง ส่วนผู้ควบคุมงานที่เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 162 (1)(4) ประกอบมาตรา 86

-------------

Infographic ประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2566
"การทุจริตการเบิกจ่ายเงินแก่ผู้รับจ้าง"
องค์การบริหารส่วนตำบลได้สอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ โดยมี นาย ก. เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง ในการดำเนินการก่อสร้างผู้รับจ้างก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายละเอียดกำหนดจำนวนหลายรายการ เป็นเหตุให้หัวหน้าส่วนโยธาในฐานะผู้ควบคุมงานและกรรมกรรมการตรวจการจ้าง ได้มีบันทึกเสนอนาย ก. ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งต่อมาผู้รับจ้างได้ดำเนินการแก้ไขแต่ยังไม่ถูกต้องตามรูปแบบ แต่ปรากฏว่านาย ก. ได้มีคำสั่งอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้งที่งานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เป็นเหตุให้ราชการเกิดความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของ นาย ก. เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91

-------------

Infographic ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2566

"การทุจริตการตกลงจ้าง"

องค์การบริหารส่วนตำบลได้จัดจ้างงานโครงการถมดิน โดยวิธีตกลงราคา โดยมีเจ้าหน้าที่พัสดุ และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้พิจารณาราคาของผู้เสนอราคา 2 ราย และเห็นควรจ้างผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่ผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการให้เรียกผู้เสนอราคาสูงสุดมาทำสัญญาโดยมิได้แสดงเหตุผลและความจำเป็นแต่อย่างใด เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 และใช้ดุลพินิจโดยมิชอบทำให้ราชการได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของ นาย ก. เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91

-------------

Infographic ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2566

"การทุจริตเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานจ้าง"

องค์การบริหารส่วนตำบลได้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนน โดยวิธีสอบราคา แต่นาย ก. ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานมาก่อสร้างฝายน้ำโดยวิธีตกลงราคาเพื่อให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของตน โดยไม่ได้นำเรื่องเสนอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาอนุมัติก่อน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของ นาย ก. เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91

-------------

Infographic ประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2566

"การทุจริตการตกลงจ้าง"

องค์การบริหารส่วนตำบลได้จัดทำโครงการก่อสร้างถนนสายต่าง ๆ รวม 6 สาย โดยเจ้าหน้าที่ได้เสนอให้รวมโครงการทั้ง 6 เพื่อดำเนินการการจัดจ้างโดยวิธีสอบราคา ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 แต่นาย ก. ได้แยกจัดจ้างงานเป็นแต่ละโครงการเพื่อดำเนินการโดยวิธีตกลงราคา และนาย ก. ได้สั่งการให้ทำการจ้างงานกับห้างหุ้นส่วนที่เสนอราคาสูง โดยไม่ปรากฏเหตุผลและความจำเป็นในการจ้างห้างหุ้นส่วนที่เสนอราคาสูงแต่อย่างใด เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 และใช้ดุลพินิจโดยมิชอบทำให้ราชการได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของ นาย ก. เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91

-------------

Infographic ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2566

"ตรวจรับงานจ้างถนนคอนกรีตที่ไม่ได้ขนาด"

องค์การบริหารส่วนตำบล A ได้ดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยการก่อสร้างถนนในงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย ผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้างโดยมีนาย กวิศวกรโยธา และนาย ข. นายช่างโยธา ขององค์การบริหารส่วนตำบล A เป็นผู้ควบคุมงาน ได้รายงานให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบว่า การก่อสร้างถนนได้ดำเนินการเสร็จตามแบบและสัญญาจ้าง คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจสอบรายงานของผู้ควบคุมงาน และได้ตรวจสอบภายนอกของถนนดังกล่าว เห็นว่าถูกต้องตามแบบรูปรายการ จึงได้ทำการตรวจรับงานจ้างและเบิกจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้แก่ผู้รับจ้าง แต่จากการตรวจสอบปรากฏว่า ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กมีความหนาไม่ได้ขนาด 20 เซนติเมตร ตามแบบ โดยมีความหนาเฉลี่ยเพียง 18.30 เซนติเมตร ขาดหายไป 1.70 เซนติเมตร คิดเป็นปริมาตรคอนกรีตที่หายไปประมาณ 132.60 ลูกบาศก์เมตร คำนวณค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 165,750 บาท ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของนาย ก. และนาย ข. มีมูลความผิดทางวินัย ส่วนคณะกรรมการตรวจการจ้าง ถือว่าได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรับงานจ้างไปตามสมควรแก่กรณีแล้ว จึงไม่มีความผิด รวมทั้งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล A ไม่ปรากฏว่ามีมูลความผิด

-------------

Infographic ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2566

"เรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง"

สำนักงานประปาร้อยเอ็ดเขต 8 ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายหนึ่ง ปรับปรุงเส้นท่อประปาตามแนวถนนราชดำเนินในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกองวิชาการเป็นประธานกรรมการ นาย ก. ผู้จัดการสำนักงานประปาร้อยเอ็ดและหัวหน้างานควบคุมน้ำเสีย เป็นกรรมการ ในระหว่างที่ดำเนินการปรับปรุงเส้นท่อประปาอยู่นั้น นาย ก. ได้โทรศัพท์ติดต่อเรียกเงินจากผู้รับจ้าง จำนวน 50,000 บาท โดยให้โอนเงินจากธนาคารแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ไปยังธนาคารอีกแห่งหนึ่งสาขาร้อยเอ็ด ให้แก่นาย ก. โดยนาย ก. ได้ไปรับเงินด้วยตนเอง ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนเงิน 50,000 บาท นาย ก. ให้ถ้อยคำและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นเงินที่ขอยืมจากหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้รับจ้างและยังไม่ได้ใช้คืน

 

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของ นาย ก. ซึ่งมีหน้าที่ตรวจรับงานจ้างการปรับปรุงเส้นท่อประปาให้เป็นไปตามสัญญา แต่กลับอาศัยสถานะดังกล่าว ขอยืมเงินจากผู้รับจ้าง มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาค

ส่วนการกระทำของนาย ก. ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่กรรมการตรวจการจ้างเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง ยังไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอ เนื่องจากพยานมีลักษณะยันกันปากต่อปาก และไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าได้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการตรวจรับงานจ้างในทางช่วยเหลือ หรือให้ประโยชน์แก่ผู้รับจ้าง

-------------

Infographic ประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2566

"ทุจริตแก้ไขราคากลางและเอกสารผลการประกวดราคา"

นาย ก. ตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ได้เสนอผลการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุง Ground Improvement For Airside Pavements ของบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยได้พิจารณาผู้เสนอราคาต่ำสุดใน Option 1 ซึ่งเสนอราคา 11,900,000,000 บาท สูงกว่าราคากลางที่บริษัทที่ปรึกษากำหนดไว้คิดเป็น 9.57 เปอร์เซ็นต์ และเห็นสมควรจัดจ้างบริษัทผู้เสนอราคารายดังกล่าว เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าวงเงินไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของราคากลาง กรรมการผู้จัดการใหญ่จึงได้สั่งการให้ นาย ก. และรองผู้จัดการใหญ่อีก 2 คน ทำการต่อรองราคา ผลการต่อรองราคาปรากฏว่าผู้เสนอราคาได้ตัดค่าใช้จ่ายรายการเงินค่าอำนวยการออก 108 ล้านบาท คงเหลือราคา 11,650,000,000 บาท กรรมการผู้จัดการใหญ่จึงสั่งให้นำเข้าเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณา

ในระหว่างที่จัดเตรียมเอกสารเพื่อส่งไปให้กรรมการบริษัทฯ พิจารณา ได้มีการแก้ไขเอกสารบันทึกของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา โดยลบข้อความเกี่ยวกับราคากลางที่ระบุไว้ 10,860,743,889.38 บาท แก้ไขเป็น 12,200,000,000 บาท และแก้ไขรายละเอียดในวาระการประชุมให้สอดคล้องกับบันทึกคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาในเรื่องราคากลางให้สอดคล้องกัน โดยนาย ข. เป็นผู้ดำเนินการให้มีการแก้ไขเอกสารแล้วเสนอให้กรรมการบริษัทฯ พิจารณา และในการพิจารณาอนุมัติให้จ้างบริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุด เมื่อมีการแก้ไขราคากลางเป็น 12,200,000,000 บาท ทำให้เข้าใจว่าราคา 11,650,000,000 บาท เป็นราคาต่ำกว่าราคากลาง อันเป็นเหตุให้กรรมการบริษัทฯ พิจารณาอนุมัติให้บริษัทฯ ที่เสนอราคาต่ำสุดได้รับการคัดเลือก ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของนาย ก. รองผู้จัดการใหญ่ ที่มีการแก้ไขราคากลางใหม่และเป็นผู้ชี้แจงเรื่องราคากลางให้คณะกรรมการบริษัทฯ ความผิดทางวินัยและมีความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่บริษัทและฐานเป็นพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ส่วนการกระทำของ นาย ข. มีมูลความผิดทางวินัย

-------------

Infographic ประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2566

"ข่มขู่และเรียกรับเงินจากผู้ชนะการจ้าง"

นาย ก. ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมสามัญศึกษา ให้มีอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง โดยโรงเรียนได้ดำเนินการสอบราคาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำ ซึ่งบริษัท อ. เป็นผู้ชนะการสอบราคาและเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคาร ซึ่งก่อนวันทำสัญญาจ้างนาย ก. ได้ข่มขู่และเรียกรับเงินจากนาย ส. กรรมการบริษัท เพื่อเป็นค่าผ่อนส่งรถยนต์ โดยขู่ว่าหากไม่ให้จะทำงานลำบากขึ้น นาย ส. จึงเข้าแจ้งความและร่วมวางแผนกับเจ้าหน้าที่จับกุมนาย ก. โดยภายหลังจากทำสัญญานาย ส. ได้นำซองบรรจุเงินมอบให้นาย ก. เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าตรวจค้นพบเงินดังกล่าว การกระทำของนาย ก. เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ผู้อื่นและทางราชกาได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. 2523 มาตรา 4 และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา 149 และมาตรา 157

-------------

Infographic ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2566

"การจ่ายเงินรางวัล กรณีที่มีผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแส ตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัล พ.ศ. 2566"

การชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ หรือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีโอกาสได้รับการจ่ายเงินรางวัล ตามข้อ 19 ของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัล พ.ศ. 2566 ระบุว่า...

"ให้จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของทรัพย์สินที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท"

-------------

Infographic ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2566

วิธีการและช่องทางการแจ้งเบาะแสการร้องเรียนการทุจริต

หากพบเห็นเจ้าพนักงานของรัฐทุจริตต่อหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ได้หลายวิธี

1.กล่าวหา เป็นหนังสือ "เรียน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช." สำนักงาน ป.ป.ช. เลขที่ 361 ถ.นนทบุรี ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 หรือ ส่งที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 – 9 หรือส่งที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด

2.กล่าวหาด้วยวาจาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 - 9 หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกคำกล่าวหาไว้เป็นพยานหลักฐาน

3.แจ้งเบาะแส /ร้องเรียน ผ่านเว็บไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช.

คลิกไปที่หัวข้อ "ศูนย์ร้องเรียน"

คลิกหัวข้อ "แจ้งข้อมูลเบาะแสการทุจริต"

4.ร้องเรียนผ่านทางโทรศัพท์ สำนักงาน ป.ป.ช.

สายด่วน ป.ป.ช. 1205

สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง 0-2528-4800

สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1-9 หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด

5.ร้องเรียนผ่านเครือข่ายเฝ้าระวัง www.nacc.go.th/we

6.กล่องรับเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด

----

การเขียนคำกล่าวหา การแจ้งเบาะแส การร้องเรียนการกระทำความผิด ต้องมีรายละเอียดดังนี้

หากเป็นการกระทำความผิดต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม จะต้องระบุว่า..

การกระทำความผิดเกิดขึ้นเมื่อใด

มีขั้นตอนหรือรายละเอียดการกระทำความผิดอย่างไร

มีพยานบุคคลรู้เห็นเหตุการณ์หรือไม่

(ถ้าไม่สามารถนำมาได้ ให้ระบุว่า ใครเป็นผู้ก็บรักษา และในเรื่องนี้ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานใด หรือยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อใด และผลเป็นประการใด)

หากเป็นการกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ จะต้องระบุว่า...

ฐานะเดิมของผู้ถูกร้อง และภรรยาหรือสามี รวมทั้ง บิดา มารดา ของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างไร

ผู้ถูกร้องและกรรยาหรือสามี มีอาชีพอื่นๆ หรือไม่ (ถ้ามีอาชีพอื่นแล้วมีรายได้มากน้อยเพียงใด)

มีทรัพย์สินที่จะแสดงให้เห็นว่าร่ำรวยผิดปกติ มีอะไรบ้าง

----

สำนักงาน ป.ป.ช.จะไม่เปิดเผย ข้อมูลรายละเอียดของผู้กล่าวหา

ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทำการใดอันจะทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว โดยข้อมูลรายละเอียดจะถูกเก็บเป็นความลับที่สุด

-------------

Infographic ประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2566

"พิจารณาผลการประกวดราคาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน"

นาย ก. ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาโครงการให้เอกชนประกอบการขนถ่ายตู้สินค้าขึ้น-ลงรถไฟ ได้ร่วมกับนาย ข. และนาย ค. กรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาโครงการดังกล่าว โดยดำเนินการพิจารณาผลการประกวดราคาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของข้อเสนอด้านเทคนิค (TOR) เพื่อให้บริษัทเอกชนผู้เข้าร่วมเสนอราคารายหนึ่งผ่านคุณสมบัติ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ และมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมและกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของนาย ก. นาย ข. และนาย ค. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12

Related