Contrast
Font
40fa11cadaf314fab17eaaf0885a4be7.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼️ ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2567

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1033

11/03/2567

พบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของกรณีการเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญา ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q: บุคคลที่ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวในนามของบริษัท โดยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี เมื่อได้รับการเลือกตั้งมาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองแห่งหนึ่ง จึงมิได้ให้บริการกับเทศบาลเมืองที่ตนดำรงตำแหน่ง ส่วนการให้บริการทางธุรกิจกับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นซึ่งจะมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่??

A: แม้ว่าบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดให้นายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานของรัฐ และตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 126 พ.ศ. 2563 กำหนดให้นายกเทศมนตรีเป็นตำแหน่งที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวอีกด้วย

แต่สำหรับกรณีที่ท่านซึ่งได้ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวในนามของบริษัท โดยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการนั้น เป็นการดำเนินกิจการส่วนตัวก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี อีกทั้งยังได้ลาออกจากการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการภายหลังที่ได้รับการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าท่านได้เข้าเป็นคู่สัญญาหรือให้บริการกับเทศบาลที่ดำรงตำแหน่ง ฉะนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขบังคับมาตรา 126 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
------------------------------------------------

"เรียกรับเงินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนขายที่ดิน"

พบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของข้อหารือการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q : บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี และปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ถือว่ามีผลประโยชน์ส่วนรวมขัดกับผลประโยชน์ส่วนตน ตามมาตรา 126 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หรือไม่??

A : ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 126 พ.ศ. 2563 มิได้กำหนดตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 จึงไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาถ้าการกระทำว่าเป็นการผ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 แต่ประการใด แต่การดำเนินกิจการในนามบริษัทดังกล่าว จะถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามที่กฎหมายห้ามหรือไม่นั้น ยังต้องคำนึงถึงพฤติการณ์และองค์ประกอบอื่น ๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายกรณี
------------------------------------------------

พบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q: กรณีบริษัทเอกชนรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตรีไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทนและเชื้อเพลิงผสม ได้ทำหนังสือเชิญโดยระบุเจาะจงตัวข้าราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 1 ราย ให้เข้าร่วมเดินทางไปศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ในการจัดการของเสียของบริษัทชั้นนำ ณ ราชอาณาจักรสวีเดนและราชอาณาจักรเดนมาร์ก สามารถทำได้หรือไม่ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563

A: ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า คำว่า "การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน" เป็นถ้อยคำทั่วไปที่มุ่งเน้นถึงสิทธิประโยชน์บางประการที่เจ้าพนักงานของรัฐได้รับ ว่าสิทธิประโยชน์นั้น มีมูลค่าหรือสามารถแปลงเป็นมูลค่าทรัพย์สินได้หรือไม่ โดยมิได้เป็นถ้อยคำที่มีลักษณะเจาะจงถึงพฤติการณ์ในการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นการเฉพาะ

ประเด็นที่สอง และสาม เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ซึ่งได้ให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐโดยเฉพาะเจาะจง กรณีที่บริษัทเอกชนมีหนังสือถึงหัวหน้าส่วนราชการเพื่อขอให้พิจารณานั้น หัวหน้าส่วนราชการจึงมีอำนาจในการพิจารณาว่ามีเหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม และสมควรที่จะให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นรับฯ ไว้หรือไม่ การรับดังกล่าวอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐโดยตรงหรือในอนาคตหรือไม่ อันเป็นเรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ จึงเป็นดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการในการพิจารณาอนุญาตให้รับไว้ ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงาน    ของรัฐ พ.ศ. 2563 ข้อ 7

ประเด็นที่สี่ กรณีที่บริษัทเอกชนได้ทำหนังสือเชิญบุคลากรของกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยมิได้ระบุเจาะจงตัวบุคคล ไปศึกษา ฝึกอบรม หรือดำเนินการอื่นใด เป็นอำนาจดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการรายใดได้มีสิทธิเข้าร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานตามความเหมาะสมและความจำเป็นของทางราชการ ภายใต้กรอบของกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 ได้ที่

 https://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2563/A/020/T_0017.PDF
------------------------------------------------

พบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของการเข้าเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษามูลนิธิและบริษัทเอกชน ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q : ภายหลังจากที่พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ถึงสองปี และได้รับเชิญให้เข้าเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษามูลนิธิโรงเรียนบางกอกพัฒนา และบริษัท จำนวน 2 บริษัท จะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และข้อห้ามอื่นของสำนักงาน ป.ป.ช. หรือไม่??

A : 1. มูลนิธิซึ่งจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีสถานะเป็นเอกชนโดยการดำเนินการรับจดทะเบียนมูลนิธิและอำนาจในการกำกับควบคุมดูแลเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง มิได้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังหรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของกระทรวงการคลังแต่อย่างใด อีกทั้งมูลนิธิโรงเรียนบางกอกพัฒนาเป็นองค์กรที่ไม่ดำเนินธุรกิจทางการค้าเพื่อแสวงหาผลกำไร ดังนั้น มูลนิธิโรงเรียนบางกอกพัฒนาจึงมิใช่ธุรกิจของเอกชนที่อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งพ้นจากตำแหน่งไม่เกินสองปี เข้าไปเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษามูลนิธิโรงเรียนบางกอกพัฒนา จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 126 (4) ประกอบมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

บริษัททั้งสองบริษัท มีหน้าที่เสียภาษีต่อกรมสรรพากร อันเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของกระทรวงการคลังและเป็นหน้าที่โดยทั่วไปของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ใช้บังคับเฉพาะกับการประกอบธุรกิจในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหน้าที่ในการจัดเก็บภาษี ตามประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้อง เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร มิได้ขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่อย่างใด และการเสียภาษีสรรพสามิตย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้นำเข้า ผู้ประกอบกิจการสถานบริการหรือผู้อื่นที่พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนด และเป็นหน้าที่ทั่วไปของผู้ประกอบธุรกิจประกอบกับหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตก็เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพสามิตตามกฎหมายมิได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเช่นเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าบริษัททั้งสองบริษัท เป็นบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในการยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกฎหมายได้มีการกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการไว้ชัดเจนและเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมิได้เป็นนายทะเบียนตามกฎหมายที่จะมีอำนาจหรือหน้าที่ในการรับหรือไม่รับจดทะเบียนดังกล่าว ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของท่านจึงไม่มีสภาพแห่งผลประโยชน์ทางธุรกิจขัดหรือแย้งกับประโยชน์ส่วนตัวในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 126 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ การห้ามเจ้าพนักงานของรัฐดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จำต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำด้วยว่ามีสภาพแห่งการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ด้วย เพื่อมีให้เกิดการลิดรอนสิทธิในการประกอบอาชีพของเจ้าหน้าที่รัฐภายหลังพ้นจากตำแหน่ง

------------------------------------------------

พบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพ้นตำแหน่งไม่ถึงสองปีได้รับเชิญให้เข้าเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q : กรณีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ถึงสองปี ได้รับเชิญให้เข้าเป็นกรรมการบริษัทเวชการแห่งหนึ่ง ซึ่งมีบริษัทลูกที่บริษัทจัดตั้งขึ้นคือ บริษัทประกันสุขภาพ และบริษัทนายหน้าประกันภัยจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และข้อห้ามอื่นของสำนักงาน ป.ป..หรือไม่??

A : (1) การดำเนินการประกอบธุรกิจของ บริษัทประกันสุขภาพ นั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยตรงจึงมีอำนาจควบคุม กำกับ ดูแล การดำเนินงานของธุรกิจเอกชนเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต การที่ท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเข้าไปเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างในบริษัทประกันสุขภาพ ด้วย ย่อมมีส่วนได้เสียในกิจการของบริษัทประกันสุขภาพซึ่งรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุมหรือตรวจสอบ โดยสภาพของผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทประกันสุขภาพ อาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจึงต้องห้ามตามมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

(2) กรณีการเข้าเป็นกรรมการบริษัทเวชการแห่งหนึ่ง และบริษัทนายหน้าประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเวชการ นั้น บริษัทเวชการมีหน้าที่เสียภาษีต่อกรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน้าที่โดยทั่วไปของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ใช้บังคับเฉพาะกับการประกอบธุรกิจในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรตามกฎหมาย มิได้ขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกอบกับในการยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะต้องยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการไว้ และ   เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงมิได้เป็นนายทะเบียนตามกฎหมายที่จะมีอำนาจหรือหน้าที่ในการรับหรือไม่รับจดทะเบียนดังกล่าว การปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของท่าน จึงไม่มีสภาพแห่งผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ขัดหรือแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 126 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ การห้ามเจ้าพนักงานของรัฐดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จำต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำประกอบด้วยว่ามีสภาพแห่งการกระทำ เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ด้วยเพื่อมีให้เกิดการลิดรอนสิทธิในการประกอบอาชีพของเจ้าหน้าที่รัฐภายหลังพ้นจากตำแหน่ง แม้จะปรากฎข้อเท็จจริงว่าท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงระยะเวลาอันสั้น อาจยังไม่ทราบนโยบายที่ชัดเจน กรณีดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ ของการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณีไป ดังนั้น กรณีที่ท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งพันจากตำแหน่งไม่เกินสองปี เข้าไปเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาในบริษัทเวชการแห่งหนึ่งและบริษัทนายหน้าประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเวชการ จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 126 (4) และมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

------------------------------------------------

พบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของกรณีคำถามเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q : ปลัดกระทรวงมหาดไทยภายหลังได้รับตำแหน่งจะไปดำรงตำแหน่งกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้หรือไม่ ?? ซึ่งบริษัทที่คู่สมรสเป็นผู้บริหารได้เข้าทำสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

A : การที่ท่านจะไปดำรงตำแหน่งกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นเรื่องไม่เหมาะสมแต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการทำสัญญาดังกล่าวของคู่สมรสได้ดำเนินการก่อนที่ท่านดำรงตำแหน่ง จึงเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 126 วรรคสอง ทั้งนี้ การจะไปดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะต้องพิจารณาในเรื่องของคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

Q : คู่สมรสหรือบริษัทที่เป็นของคู่สมรส จะดำเนินการตามสัญญาเดิมที่มีต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ จะสามารถทำธุรกิจอื่นเพิ่มเติมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้หรือไม่ อย่างไร??

A : กรณีสัญญาเดิมของคู่สมรสที่ทำกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 126 (1) เนื่องจากการทำสัญญาดังกล่าวของคู่สมรสได้ดำเนินการก่อนที่ท่านดำรงตำแหน่ง ส่วนกรณีการทำธุรกิจอื่นเพิ่มเติมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของบริษัทหรือบริษัทลูกของคู่สมรสที่เป็นการเข้าไปมีส่วนได้เสียภายหลังจากที่ท่านไปดำรงตำแหน่งกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว ย่อมเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 126 (1) และไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 126 วรรคสอง

------------------------------------------------

พบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของการดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิ ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประสงค์จะจัดตั้งมูลนิธิเพื่อลูกหลานแรงงานไทย จะสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร??

A: การดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อลูกหลานแรงงานไทย สามารถดำเนินการได้ ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ที่ห้ามมิให้รัฐมนตรีดำเนินการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 126 และมาตรา 127

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวปฏิบัติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบในการดำเนินการ หรือข้อควรระวังในการดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิ

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติเรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ไว้ในหมวด 6 ตั้งแต่มาตรา 126 ถึงมาตรา 129 หากฝ่าฝืนอาจมีความผิดทางอาญา ตามมาตรา 168 มาตรา 169 และมาตรา 170 แล้วแต่กรณีซึ่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 126 ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 126 พ.ศ. 2563 ส่วนการที่รัฐมนตรีจะเป็นประธานกรรมการและกรรมการมูลนิธิได้หรือไม่ย่อมเป็นไปตามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

สำหรับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐและการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชี พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ กรณีการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้นหรือมีการกล่าวหาหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจตรวจสอบที่มา  ของทรัพย์สินและหนี้สิน การเคลื่อนไหวทางการเงิน หรือการทำธุรกรรม และดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงมาประกอบการวินิจฉัยได้ตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนด

Related